ในปัจจุบันนี้ Cactus เป็นไม้ประดับที่มีความนิยมกันอย่างแพร่หลาย แต่ก็มีไม้ประดับในกลุ่ม Succulents อื่นๆ ที่น่านสนใจอีกหลายชนิด โดยเฉพาะ Haworthia ได้รับความสนใจมานานพอๆ กับ Cactus ถ้าเอ่ยชื่อ Harworthia หลายคนอาจจะไม่รู้จัก แต่ถ้ากล่าวถึง บัวแก้ว ม้าลาย ม้าเวียน ม้าจุด ม้าหน้าตัด และ ม้าอื่นๆ แล้ว หลายๆคนคงร้อง อ๋อ เพราะไม้ประดับเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในหมู่นักเลี้ยง Cactus โดยทั่วไปแล้วลำต้น Haworthia จะมีขนาดเล็กกระทัดรัด ใบก็มีลวดลายสวยงามดูแปลกตา ปรับตัวได้เก่ง สามารถปลูกประดับบนโต๊ะทำงานในห้องปรับอากาศได้เป็นอย่างดี
ไม้ประดับสกุล Haworthia ได้รับการค้นพบในปี ค.ศ. 1809 โดยนายแพทย์ Henri August Duval ชาวฝรั่งเศส ในช่วงแรก Haworthia ได้รับการจัด ไว้ในสกุงเดียวกับ Aloe ต่อมานายแพทย์ Duval ได้แยกสกุล Haworthia และ Gasteria ออกมาจากสกุล Aloe โดยตั้งชื่อสกุล Haworthia ให้เป็นเกียรติแก่นาย Adrian Hardy Haworth นักพฤกษศาสตร์ที่มีชื่อเสียงชาวอังกฤษ ผู้ที่ให้ความสนใจศึกษา Succulents ในช่วงยุคต้นคริสตวรรษที่ 19
Haworthia เป็นพืชในวงศ์ Liliacear ซึ่งเป็นพืชในวงศ์เดียวกันกับ Aloe หรือ ว่านหางจระเข้นั่นเอง ลักษณะที่สำคัญของพืชในวงศ์นี้ คือ ใบมีลักษณะเรียวแหลม เรียงตัวเป็นวงกลมคล้ายดอกไม้ ใบมีลักษณะอวบน้ำ ส่วนประกอบภายในใบเป็นส่วนที่ใช้เก็บสะสมน้ำและอาหาร มีลักษณะเป็นวุ้นใสๆ รากอวบหนาใช้สะสมอาหาร ดอกออกเป็นช่อสูง อาจเป็นช่อเดี่ยวหรือแตกออกเป็นกิ่งก้าน นอกจาก Haworthia แล้วยังมีไม้ประดับชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิดที่จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับ Haworthia ได้แก่ Aloe, Astroloba, Gasteria และ Poelinitzia ไม้ประดับเหล่านี้ก็เป็นที่นิยมไม้แพ้ Haworthia
Haworthia เป็นพืชมีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา พบขึ้นอยู่ในช่วงเส้นแวงที่ 33-34 องศาใต้ โดยเฉพาะใน Cape Province ประเทศแอฟริการใต้ ยกเว้น Haworthia venosa ssp.tessellata และ Haworthia limifolia เพียง 2 ชนิด ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกา ในประเทศสวาซิแลนด์และโมซัมบิค ในธรรมชาติเราจะพบ Haworthia เจริญเติบโตใต้พุ่มไม้หรือตามซอกหิน โดยอาศัยประโยชน์จากร่มเงาช่วยลดความร้อน และใบไม้ที่ทับถมผุพังกลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติอย่างดี Haworthia มีระบบรากที่มีประสิทธิภาพในการดูดซับน้ำ สามารถยือหดได้เป็นอย่างดี ในฤดูร้อนสภาพอากาศแห้งแล้งรากจะหดตัวดึงเอาลำต้นให้ลมลงไปในดิน มีเฉพาะเพียงบางส่วนของใบโผล่พ้นพื้นดินขึ้นมารับแสง ใบก็เช่นกันได้มีการพัฒนาและปรับตัวเป็นอย่างดี Haworthia บางชนิดบริเวณใบด้านบนใกล้ปลายใบจะมีลักษณะโปร่งใส มีความสำคัญเมื่อลำต้นหลบหนีความร้อนลงไปในดิน มีบริเวณนี้ของใบเพียงส่วนเดียวเท่านั้นที่โผล่พ้นดินขึ้นมา แสงจะสามารถผ่านทะลุส่วนนี้เข้าไปส่วนกลางภายในใบ Haworthia จะสามารถสังเคราะห์แสงได้จากบริเวณนี้ Haworthia บางชนิดในช่วงฤดูร้อนที่แห้งแล้งใบแก่จะแห้งและม้วนตัวคลุมลำต้นไว้ทั้งหมด ระยะนี้จะเป็นระยะที่ Haworthia อยู่ในช่วงพักตัว เมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ดินได้รับความชื้นเพียงพอก็จะทำให้ Haworthia แตกใบใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง Haworthia ส่วนใหญ่จะมีลวดลายบนใบที่กลมกลืนกับธรรมชาติรอบๆ ตัว ช่วยพรางตัวจากสัตว์กินพืชได้เป็นอย่างดี นี่เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ Haworthia สามารถดำรงเผ่าพันธุ์สือต่อไปได้
ด้วยขนาดที่เล็กกระทัดรัด มีลวดลายบนใบที่มีความน่ารัก ปลูกเลี้ยงง่าย มีความอดทนสูงปรับตัวเก่งและไม่ต้องการแสงแดดมากเท่ากับ Cactus ทั่วไป Haworthia จึงเป็นไม้ประดับที่สามารถปลูกเลี้ยงในห้องปรับอากาศซึ่งมีความชื้นในอากาศและความเข้มของแสงค่อนข้างต่ำได้เป็นอย่างดี เราสามารถนำ Haworthia ที่ปลูกเลี้ยงไว้ ออกผึ่งแดดประมาณสัปดาห์ละครั้ง หรือสองครั้ง หรือนำไปปลูกไว้ริมหน้าต่างให้ถูกแสงบ้างเป็นบางครั้งคราว Haworthia ก็จะสามารถเติบโตต่อไปได้เป็นอย่างดี Haworthia จึงเป็นไม้ประดับที่มีความเหมาะสมมากที่จะนำไปปลูกประดับบนโต๊ะที่ทำงาน
ในปัจจุบันได้มีการนำ Haworthia มาจัดประดับตกแต่งและจัดเป็นสวนถาดขนาดเล็กออกวางขาย โดยจะปลูกเป็นต้นเดี่ยวหรือจัดเป็นสวนถาดร่วมกับ Cactus ก็ดูสวยน่ารักไปอีกแบบ ถ้าท่านสนใจที่จะปลูกเลี้ยง Succulents ไว้ประดับบ้านซึ่งมีเนื้อที่จำกัดหรือปลูกประดับบนโต๊ะในสำนักงานแล้ว Haworthia ก็เป็นไม้ประดับอีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจ
Haworthia limifora <ม้าเวียน>
ตอนที่ 2 (จบ)
ในตอนที่แล้วได้กล่าวถึงถิ่นกำเนิดและลักษณะทั่วๆ ไปของ Haworthia ไปแล้ว ในตอนนี้ก็คงจะต้องกล่าวถึงการปลูกเลี้ยงและขยายพันธุ์ Haworthia รวมทั้งโรคและแมลงที่รบกวน ที่ติดค้างไว้ตั้งแต่ตอนที่แล้ว การปลูกเลี้ยง Haworthia ให้เจริญเติบโตได้ดีนั้นไม่ได้เป็นเรื่องยากเลย ถ้าเราจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และคล้ายคลึงกับธรรมชาติในถิ่นกำเนิด Haworthia เป็น succulents ที่ปลูกเลี้ยงง่าย ชอบที่ร่มรำไร อากาศถ่ายเทดี ไม่ชอบแสงแดดจัด เพราะจะทไห้ใบเป็นจุดสีน้ำตาลและปลายใบไม้ ดังนั้นการปลูกเลี้ยง Haworthia จึงควรพรางแสงให้ประมาณ 50% จึงจะเป็นการดี Haworthia ชอบดินร่วนซุยและระบายน้ำได้ดี มีฮิวมัสมากกว่าดินปลูก Cactus ทั่วๆไป และควรจะให้น้ำบ่อยกว่า Cactus เล็กน้อย เพราะ Haworthia ชอบดินที่ค่อนข้างชื้นมากกว่า Cactus แต่ไม่ชอบดินที่แฉะมีน้ำขัง ระบบรากจะขาดออกซิเจนและ Haworthia ก็จะเน่าตายในที่สุด
Haworthia จะเลี้ยงให้ออกดอกง่ายในถิ่นกำเนิด Haworthia จะออกดอกเฉพาะในหน้าร้อนเท่านั้นแต่ในสภาพภูมิอากาศแบบประเทศไทย Haworthia จะให้ดอกเกือบตลอดปี แต่ดอกจะดกมากในช่วงฤดูร้น ส่วนใหญ่ Haworthia ดอกจะออกเป็นช่อเดี่ยว สูง 30-50 ซม. แต่บางครั้งช่อดอกจะแตกกิ่งได้แต่ละช่อจะมีดอกประมาณ 10-30 ดอก ดอกขึ้นกับชนิดพันธุ์ โดทั่วไปดอก Haworthia มักมีสีขาวมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกขนาดยาว 1-1.5 ซม. ดูแล้วไม่ค่อยมีความสวยงามเลย นักเลี้ยงส่วนใหญ่จึงปลูกเลี้ยง Haworthia ไว้เพื่อดูความสวยงามจากลวดลายบนใบและรูปทรงลำต้นเท่านั้น
เมื่อเราปลูกเลี้ยง Haworthia ไปนานๆ เข้าจน Haworthia เจริญเติบโตเต็มที่ ถึงเวลานั้น Haworthia ก็จะแตกหน่อเล็กๆ ออกมาที่โดนต้น หน่อเล็กๆเหล่านี้สามารถนำมาขยายพันธุ์ได้ หลังจากหน่อเติบโตจนมีขนาดพสมควรแล้ว เราก็สามารถแยกหน่อออกมาขยายพันธุ์ได้ Haworthia ที่น่ารักใน collecion ของเราก็จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น Haworthia บางชนิด เมื่อออกดอกแล้ว จะมีหน่อแตกออกมาบริเวณจากช่อดอก มาปลูกได้เช่นเดียวกับหน่อปกตินอกจากการขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อแล้ว Haworthia ยังสามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เราสามารถผสมพันธุ์ Haworthia ได้ด้วยตนเองที่บ้านด้วยวิธีการง่ายๆ คือ การใช้ไม้จิ้มฟันหรือพู่กันขนาดเล็กเขี่ยละอองเกสรตัวผู้ จากดอกหนึ่งลงบนเกสรตัวเมียของอีกดอกหนึ่ง การขยายพันธุ์ควรจะทำในตอนเช้าเมื่อ Haworthia ติดฝัก ก้านดอกจะแข็งแรงขึ้น รังไข่ก็จะขยายตัวใหญ่ขึ้น ประมาณ 2-3 สัปดาห์ฝักก็จะแก่ มีข้อแนะนำสักนิดหนึ่งสำหรับการเก็บเมล็พันธุ์ฝัก Haworthia เมื่อแก่จะแห้งและแตกออก ทำให้เมล็ด Haworthia หลุดร่วงหายไปหมด เรามีวิธีการป้องกันได้โดยการใช้เทปใสพันที่ฝัก Haworthia ไว้ก่อนที่ฝักจะแก่เต็มที่ เมื่อฝักแก่เทปใสจะช่วยป้องกันมิให้ฝักแตกออก ไม่ให้เมล็ดหลุดร่วงหายไป วิธีการเพาะเมล็ดนี้นอกจากจะเพิ่มจำนวนได้ในปริมาณมากแล้ว เรายังสามารถปรับปรุงสายพันธุ์และพัฒนาลูกผสมใหม่ที่แปลกๆ และสวยงามได้อีก มากมายเช่นเดียวกับไม้ประดับชนิดอื่นๆ รวมทั้งเราอาจจะได้ Haworthia ที่มีลักษณะแปลกๆ และหายากโดยเฉพาะไม้ด่างปะปนมาได้ การเพาะเมล็ดเราสามารถใช้วิธีการเช่นเดียวกับการเพาะเมล็ด Cactus ทั่วไป กล่าวคือ ใช้วัสดุเพาะที่ฆ่าเชื้อแล้ว ใช้เมล็ดพันธุ์โรยลงบนวัสดุเพาะ แล้วเก็บกระถางเพาะนี้ในถุงพลาสติกใส เพื่อให้ความชื้นคงที่ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ Haworthia ต้นน้อยๆ ก็จะงอกขึ้นมา เก็บไว้ในถุงพลาสติกจนประมาณ 1-2 ซม. จึงแยกต้นอ่อนออกมาปลูก วิธีการนี้ค่อนข้างจะยุ่งยากสำหรับนักเลี้ยงสมัครเล่นทั่วไปนอกจากนี้ยังใช้เวลานาน 2-4 ปีกว่าต้นอ่อนจะเจริญเติบโตจนเห็นรูปทรงและลวดลายที่ชัดเจน ทำให้วิธีนี้ยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายกันมากนัก
นอกจากการขยายพันธุ์ด้วยหน่อและการเพาะเมล็ดแล้ว ยังมีการขยายพันธุ์อีกวิธีหนึ่งที่หลายๆคนยังไม่ทราบ วิธีนี้นอกจากจะใช้เวลาในการขยายพันธุ์ได้รวดเร็วกว่าการเพาะเมล็ดแล้วยังได้ลูกไม้ที่ลักษณะเหมือนต้นแม่ทุกประการ วิธีการนี้ก็คือ การปักชำด้วยใบ โดยเราจะใช้ใบ Haworthia บริเวณโคนต้น ที่เจริญเติบโตเต็มที่มีการสะสมอาหารไว้ในใบมากพอ โดยเราจะเด็ดใบ Haworthia ให้ชิดกับโคนต้นให้มากที่สุด วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการจับใบ Haworthia ที่โคนใบให้แน่นแล้วโยกไปทางซ้ายและขวาเบาๆ ใบ Haworthia ก็จะหลุดออกมาได้โดยง่าย ป้ายบริเวณรอยแผลด้วยยาฆ่าเชื้อราหรือฮอร์โมนเร่งราก ทิ้งไว้ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทดี ประมาณ 1 สัปดาห์ จนแผลแห้งดี จากนั้นนำใบ Harwothia ลงชำในเครื่องปลูกปกติ โดยใช้ส่วนของโคนใบชำให้ลึกลงไปในดินประมาณ 1 ซม. เก็บไว้ในที่ร่มรำไรและรดน้ำให้ดินมีความชุ่มชื้นสม่ำเสมอ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ใบ Hawothia ก็จะแตกรากออกมา ให้ปุ๋ยที่เจือจางแล้วสัปดาห์ละครั้ง รดน้ำตามปกติ ต่อไปอีกประมาณ 2-6 เดือน ก็จะมี Haworthia ต้นเล็กๆแตกออกมาที่โคนใบประมาณ 3-10 ต้น ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาดและความสมบูรณ์ของใบ Haworthia ที่ใช้ ทิ้งไว้จนต้นอ่อนมีขนาดประมาณ 2-3 ซม. จึงแยกออกมาปลูกส่วนใบ Haworthia เดิมถ้ายังอยู่ในสภาพดีเราก็สามารถนำมาปักชำต่อไปได้อีก การขนายพันธุ์ในการปักชำใบนั้น เหมาะสำหรับ Haworthia ที่มีใบขนาดใหญ่ และอวบหนาเพราะมีอาหารสะสมเพียงพอ Haworthia ที่มีใบขนาดเล็กหรือใบบาง จะไม่ค่อยเหมาะกับการขยายพันธุ์โดยวิธีนี้ เพราะเมื่อปักชำแล้ว ใบของ Haworthia มักจะเหี่ยวแห้งเฉาตายไปก่อนที่จะแตกหน่อออกมา
Haworthia เป็น Succulents ที่ปลูกเลี้ยงง่าย มีปัญหาโรคและแมลงศัตรูรบกวนน้อยมาก โรคที่พบได้บ่อย ได้แก่ โรครากเน่า และ ต้นเน่า เกิดจากเชื้อรามีสาเหตุจากดินปลูกแน่นและแฉะเกินไป ดินระบายน้ำได้ไม่ดีรากขาดอากาศ ที่ทำใหรากเน่าและมีเชื้อราเข้าทำลาย เชื้อราจะลุกลามเข้าไปในลำต้นทำให้ลำต้นเน่าตายในที่สุด เมื่อมีอาการนี้เกิดขึ้น ให้ถอน Haworthia ออกมาเฉือนบริเวณที่เน่าและมีสีดำออกให้หมด ป้ายด้วยยาฆ่าเชื้อรา ปล่อยทิ้งไว้จนแผลแห้งดี แระมาณ 1-2 สัปดาห์ จึงนำลงปลูก เราสามารถป้องกันโรครากละลำต้นเน่าได้โดยใช้ดินปลูกที่ระบายน้ำได้ดี ปลูกเลี้ยงในที่ ที่ มีอากาศถ่ายเทสะดวก และมการใช้ยาฆ่าเชื้อราเมื่อมีการแพร่ระบาดของโรค โรคปลายไหม้ก็เป็นอีกโรคหนึ่งซึ่งพบได้บ่อย เกิดจากการปลูก Haworthia ในบริเวณที่ได้รับความร้อนหรือแสงแดดมากเกินไปทำให้ปลายใบแห้ง และใบมีจุดสีน้ำตาล เราสามารถป้องกันได้โดยพรางแสงให้ Haworthia ประมาณ 50% และ.โรงเรือนควรให้มีการถ่ายเทอากาศได้ดี ส่วนแมลงศัตรูพืชที่สำคัญ จะมีเพียง 2 ชนิด คือ เพลี้ยหอยและเพลี้ยแป้ง ทั้งที่รากและต้น เราสามารถป้องกันได้โดยการใช้ยาปราบศัตรูพืชประเภทดูดซืมเป็นครั้งคราว เมื่อมีการกระบาดของเพลี้ยเหล่านี้ และควรแยก Haworthia ต้นที่มีการระบาดของเพลี้ยออกไปรักษาภายนอกโรงเรือนจนหายดี เป้นการช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเพลี้ยภายในโรงเรือน
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่า Haworthia เป็นไม้ประดับที่ไม่ได้มีความยุ่งยากในการดูแลและใช้เนื้อที่น้อย ปลูกเลี้ยงก็ง่ายถ้ามความสนใจให้สักเพียงนิด จึงอยากจะเชิญชวนผู้ที่ยังไม่เคยปลูกเลี้ยง Haworthia ได้มาทดลองปลูก Haworthia กันสักกระถางสองกระถาง แล้วจะพบว่าไม่ใช่เรื่องยากเลย ที่จะปลูกไม้ประดับที่มีเสน่ห์และน่ารักสกุลนี้ .......
( ตอนหน้า ติดตามชมเรื่องของ Ariocarpus )