“ Capricorne ” ราชันย์ที่ถูกลืม
ด้วยความที่ชอบ Astrophytum ชนิดนี้เป็นพิเศษ และแอบน้อยใจอยู่เสมอที่เวลาป้าป้อมหยิบติดมาวางที่ร้านทีไร ก็มักจะไม่มีคนสนใจจนสุดท้ายผมเองต้องเป็นคนรับกลับบ้านทุกที เลยอยากเขียนเล่าเรื่องราวของเจ้าแอสโตรตัวโปรดตัวนี้ เพื่อที่ว่าบางคนอาจจะมาติดใจในหนามที่สวยงามของเค้าบ้าง
Astrophytum capricorne มีจุดเด่นที่หนาม ซึ่งแอสโตรที่มีหนามจะมีอยู่สองกลุ่ม กลุ่มแรกก็คือ Astrophytum ornatum หนามจะสั้น และตรง ส่วนอีกกลุ่มคือ Astrophytum capricorne ซึ่งหนามจะมีลักษณะยาวและโค้งไปมา ( ชื่อว่า capricorne ก็คงจะมาจากลักษณะหนามนี่แหละ เจ้า capricorne นี้จึงมีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Goat’s horn cactus ) ด้วยความที่หนามของเค้าสวยน่าเกรงขามมาก ผมจึงแอบถือว่า เจ้านี่แหละเป็น King of Astrophytum ( ส่วน Queen น่าจะเป็น Astrophytum asterias, Jack น่าจะเป็น Astrophytum ornatum และ Astrophytum myriostigma เป็น Bishop ไปละกันนะ )
แม้ว่าจริงๆแล้วพอมองเห็นหนามปุ๊บ จะรู้เลยว่านี่คือ capricorne ก็ตาม ลักษณะอื่นๆของเจ้าแอสโตรตัวนี้ ( ซึ่งพอจะมีประโยชน์เวลาเลือกดูต้นไม้บ้าง เพราะเมื่อยังเด็กๆอยู่ เจ้า capricorne เค้าจะยังไม่มีหนามงอกออกมา ) ก็คือ มักจะมีแปดพู พูค่อนข้างลึก จะสังเกตุว่าพูเค้าจะแหลมกว่า Astrophytum myriostigma ซึงมีห้าพู ทรงต้นจะออกป้านๆเตี้ยๆ ไม่เหมือน Astrophytum ornatum ซึ่งมีแปดพูเหมือนกัน แต่จะดูรูปทรงเหมือนแจกันคว่ำ ( จะเรียกว่าคล้ายๆผลมะเดื่อ ก็กลัวว่าคนเดี๋ยวนี้จะงงว่าเป็นยังไง ) และลายประจุดซึ่งเป็นลักษณะเด่นของสกุล Astrophytum ก็จะมีมากบ้างน้อยบ้างตามสายพันธุ์ที่จำแนกย่อยออกไป ต้นที่เริ่มมีอายุพอสมควรก็จะเริ่มมีหนามงอกจากบริเวณตุ่มหนามด้านบนของต้น สีทองจนถึงสีดำ เล็กใหญ่ตามแต่สายพันธุ์อีกเช่นกัน เรื่องหนามนี้ไม่ใช่ตัวบ่งอายุชัดเจน เพราะบางสายพันธุ์ก็จะมีหนามเร็ว หรือบางสายพันธุ์ก็หนามงงอกช้าหรืออาจไม่งอกมาเลยก็ได้
ดอกของเจ้า capricorne นี้ เป็นที่รู้กันดีในกลุ่มผู้ชื่นชอบว่า เป็นแอสโตรที่มีดอกสวยและใหญ่ที่สุด ดอกสีเหลือง กลางดอกสีแดง ซึ่งก็อาจมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปบ้าง เช่น สีเหลืองทั้งดอก ปลายกลีบตัด หรือมีกลิ่นหอมก็มี
Capricorne เป็นแอสโตรที่เลี้ยงง่ายมากๆตัวหนึ่ง ทนแดดมาก ขาดน้ำแล้วก็ไม่ค่อยยุบ เน่าก็ไม่ค่อยเน่า ทั้งๆที่หากลองล้างรากดูจะพบว่ารากของ capricorne จะอยู่ตื้นมากๆและรากน้อยเมื่อเทียบกับแอสโตรตัวอื่น ผมเองเคยทำ capricorne ต้นหนึ่งหลุดออกจากดิน ทิ้งให้รากสั้นๆอยู่กลางอากาศเป็นเวลาหลายเดือนก็ยังไม่แห้งตาย แสดงถึงความทนทานและแข็งแรงของเจ้าตัวนี้ได้เป็นอย่างดี
มีข้อเสียอย่างหนึ่งของ capricorne ที่ทำให้นักเล่นแอสโตรหลายๆท่านไม่ค่อยชอบ ก็เพราะว่าความที่มันดอกใหญ่เด่นเป็นสง่า ทำให้แมลงที่มาช่วยผสมพันธุ์ให้มักจะต้องมาแวะลงจอดบนดอก capricorne ด้วยเสมอ แล้วก็เลยทำให้ไปผสมติดกับพวก Astrophytum asterias เกิดเป็นลูกผสมที่มีสันขึ้นมา ( ซึ่งถือกันว่าทำให้เสียราคา สำหรับ Sand dollar ลูกผสม ) ผู้เพาะพันธุ์ Astrophytum หลายๆท่านจึงไม่ค่อยนิยมเก็บสะสมและผลิตแอสโตรตัวนี้นัก
แต่สำหรับคนที่ชื่นชอบแคคตัสจำพวกหนามยาวสวยงาม ย่อมต้องชอบเจ้าแอสโตรหนามสวยตัวนี้เป็นธรรมดา ส่วน capricorne สายพันธุ์โปรดของผมก็คือ Astrophytum capricorne v.crassisspinum cv. ‘KIHOU GYOKU’ ซึ่งที่ญี่ปุ่นได้ทำการปรับปรุงพันธุ์จาก Astrophytum capricorne v.crassisspinum ซึ่งมีหนามขนาดใหญ่ ให้มีหนามใหญ่เด่นมากขึ้น หนามเจ้าต้นนี้มีสองสี คือสีทองและสีดำ สวยมากทั้งสองแบบ ต้นนี้จะให้หนามตั้งแต่เล็กๆทีเดียว ดอกใหญ่และติดฝักง่าย เลี้ยงก็ง่าย เป็นต้นหนึ่งที่อยากจะแนะนำให้ เพื่อนๆที่ชอบแคคตัสหนามสวยๆหามาสะสมไว้
ที่ชอบอีกต้นหนึ่ง คือ Astrophytum capricorne v.niveum ซึ่งตัวนี้เป็นสายพันธุ์แท้จากอเมริกา ลักษณะเด่นคือประสีขาวแน่นไปทั่วต้นดูขาวสวยมาก หนามสีดำตัดกันดี แต่ตัวนี้หาที่เป็นสายพันธุ์แท้ๆได้ไม่ง่ายนัก มักจะปนไปปนมา ไม่สวยเท่าที่เห็นในหนังสือ ( หนังสือเขาว่าเป็น Astrophytum ที่สวยที่สุดเชียวนะ ) ส่วนตัวผมเองก็ยังหาต้นที่ถูกใจจริงๆไม่ได้เหมือนกัน
นอกจากเจ้าสองต้นที่พูดถึงแล้ว ก็ยังมี capricorne อีกหลายต่อหลายสายพันธุ์ ลักษณะต่างๆนานา สวยมากบ้างน้อยบ้างตามแต่ความชอบของแต่ละคน ก็อยากจะแนะนำให้เพื่อนๆที่ชอบแอสโตรพวก Onzuka หรือ Super Kabuto หรือเพื่อนๆที่ชื่นชอบแคคตัสหนามสวยๆ ลองมาสนใจเจ้าแอสโตรหนามสุดสวยตัวนี้บ้าง ทีนี้เจ้าแอสโตรในดวงใจของผมต้นนี้ จะได้เป็น Return of the king เสียที อิอิ
วิน แอสโตร
ประมวลภาพ Astrphytum capricorne