เล่าเรื่อง Sand Dollar Cactus
Astrophytum asterias หรือที่เรามักจะเรียกกันติดปากว่า Sand Dollar Cactus ( จริงๆก็เรียกกันว่า แซนด์ เฉยๆ ) จัดเป็นแคคตัส “มาตรฐาน” ชนิดหนึ่งของนักเล่นแคคตัสแทบจะทุกคน หากลองไปเยี่ยมเยียนบ้านของเพื่อนนักเล่นแคคตัสด้วยกันแล้ว ถ้าไม่ได้พบ “แซนด์ประจำตัว” ของเพื่อนคนนั้นก็คงจะรู้สึกแปลกๆ
เมื่อก่อนนี้ ( ซัก 7-8 ปีก่อน ) แซนด์จัดเป็นแคคตัสชนิดหนึ่งซึ่งยังมีราคาแพงอยู่มาก ร้านคุณลุงวิชิตเป็นเพียงร้านเดียวที่มีแซนด์วางขาย ขนาดต้น 1 เซนติเมตร ราคา 75 บาท ตอนนั้นตัวผู้เขียนเองกว่าจะมีแซนด์เป็นของตัวเอง ยังต้องรอแล้วรออีกเป็นเวลานานกว่าจะยอมตัดสินใจซื้อ ครั้งหนึ่งที่ยังจำได้ดีก็คือ เมื่อครั้งที่อาป้อมแห่งร้านกระท่อมลุงจรณ์ สั่งแคคตัสจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาเป็นจำนวนมาก ครั้งนั้นมีแซนด์หัวใหญ่ขนาดประมาณ 5-6 เซนติเมตร เข้ามาด้วย ขายราคา 650 บาท ผู้เขียนเห็นแล้วก็อดใจไม่ได้ แม้ว่าจะไม่ค่อยมีสตางค์ ก็ยังอุตส่าห์อ้อนคุณพ่อคุณแม่ขอหยิบยืมก่อน แต่พอซื้อมาแล้ว เนื่องจากรู้สึกไม่แน่ใจในความสามารถตนเองในขณะนั้น จึงต้องรบกวนฝากอาป้อมให้ช่วยปลูกให้ ( ต้นไม้ที่มา มาแบบ Bare-root ) และฝากเลี้ยงดูให้ก่อนสักระยะหนึ่ง ซึ่งอาป้อมท่านก็ยินดีรับฝาก หกเดือนต่อมา เมื่อเห็นว่าฝากอาป้อมไว้นานเกินควรแล้ว จึงให้อาป้อมนำมาให้ พอเห็นแล้วก็ตกใจ เพราะต้นไม้ที่เดิมขนาดเพียง 6 เซนติเมตร กลับใหญ่โตขึ้นจนเกือบ 10 เซนติเมตร ซึ่งหลังจากนำกลับบ้านแล้ว แซนด์ต้นนั้นก็ตั้งเด่นเป็นสง่าออกดอกหลายต่อหลายครั้ง แต่แล้ว เมื่อฤดูฝนปีหนึ่งผ่านไป ก็ปรากฏว่าแซนด์ต้นนั้นมีอาการยุบลงและเน่าไปในที่สุด ผู้เขียนเองยังเสียดายจนถึงทุกวันนี้
แม้ว่าสมัยก่อนนั้น แซนด์จะยังมีราคาสูงอยู่มาก แต่ก็ยังมีแซนด์พิเศษอีกชนิดหนึ่ง ที่ราคาสูงกว่าแซนด์ปกติอย่างมาก ซึ่งก็คือ ‘Super Kabuto’ ซึ่งปัจจุบันนี้ราคาถูกลงมาก และเป็นแคคตัสต้นโปรดของใครๆหลายๆคน ครั้งแรกที่ผู้เขียนได้เห็นเจ้า ‘Super Kabuto’ นั้น คือวันที่ไปเที่ยวที่สวนกระท่อมลุงจรณ์ที่สามโคก ปทุมธานี เป็นครั้งแรก ( ครั้งนั้นนัดอาป้อมว่าจะไปวันพุธ ซึ่งเป็นวันหยุดเรียน แต่เนื่องจากสบโอกาส ในวันอาทิตย์ด้วย คุณพ่อจึงพาไปแอบสำรวจก่อน ) วันนั้นเห็นเจ้าแซนด์ต้นนี้ ก็รู้สึกว่าเป็นแซนด์ที่ไม่ธรรมดาเอาเสียเลย ลายหนาสีขาวเป็นแผ่นโดดเด่นสวยงามมาก ด้วยความที่ยังไม่รู้จัก ผู้เขียนกับน้องชายจึงตั้งชื่อเรียกกันเองว่า “แซนด์ลายเมฆ” และก็ตั้งใจไว้ว่า จะต้องมานำกลับบ้านไปในวันพุธให้ได้ แต่พอวันพุธก็ถึงกับอึ้ง เนื่องจากราคาของเจ้า “แซนด์ลายเมฆ” นั้นสูงถึง 950 บาท ( ซึ่งสูงมากสำหรับผู้เขียนวัยประถม ซื้อแต่ต้นไม้ต้นละไม่เกินร้อยบาท ) จึงต้องเก็บความอยากเอาไว้ก่อน ต่อมาได้รู้ชื่อจริงๆของเจ้า “แซนด์ลายเมฆ” ก็ครั้งที่สำนักพิมพ์บ้านและสวนออกหนังสือคู่มือแคคตัส เล่มใหม่ ( ฉบับปรับปรุงและเพิ่มเติม เล่มหน้าปกสีเหลืองทอง ) เห็นชื่อต้นไม้ที่เคยอยากได้นั้นมีชื่อว่า ‘Super Kabuto’ มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น จึงจำได้และเกิดความรู้สึกฝังใจกับแคคตัสชนิดนี้มาตั้งแต่บัดนั้น
ว่าจะเล่าเรื่องของเจ้า ‘Super Kabuto’ ต้นแรกของผู้เขียน ก็เกรงว่า ผู้อ่านหลายๆคนจะรู้สึกเบื่อ จึงขออนุญาตเก็บไว้ก่อน ไว้เล่าเมื่อโอกาสอำนวยต่อไป
เมื่อถึงเวลาที่ผู้เขียนต้องขึ้นชั้นมัธยมปลาย ด้วยเหตุที่การเรียนหนักหนาขึ้น การเลี้ยงแคคตัสจึงต้องว่างเว้นไป ตัวผู้เขียนเองก็ไม่ได้ไปเดินสวนจตุจักรเสียเป็นเวลานาน จนมีอุบัติเหตุครั้งใหญ่ให้ผู้เขียนต้องกลับไปเดินซื้อของที่สวนจตุจักรอีกครั้ง ( เรื่องราวเกี่ยวกับอุบัติเหตุ ก็คงต้องขออนุญาตเก็บไว้เล่าสู่กันฟังในโอกาสหน้า ) ผู้เขียนได้มาเห็นราคาต้นไม้ที่เปลี่ยนไปนั้นก็ตกใจมาก เมื่อพบว่าปัจจุบันนี้ ราคาของแซนด์ถูกเสียจนไม่น่าจะเชื่อ จากที่เคยขายกันต้นละ 75 บาท เดี๋ยวนี้ขนาดต้นละ 1 เซนติเมตร ขายกันเพียงต้นละ 10-15 บาท แม้แต่เจ้า “แซนด์ลายเมฆ ‘Super Kabuto’” ที่แสนจะแพงในสมัยก่อนนั้น ราคาก็ถูกลงเป็นอย่างมาก ( จนผู้เขียนซึ่งตั้งใจเพียงจะมาซื้อดิน อดใจไม่ไหว ต้องซื้อต้นไม้ติดมือกลับเสียหลายต้น )
และไม่เพียงว่าราคาถูกลงเท่านั้น ปัจจุบันนี้แซนด์ก็ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นเป็นอย่างมากโดยชาวญี่ปุ่น มี ‘Kabuto’ ต่างๆมากมายหลายลักษณะ ทั้งที่ผู้เขียนเห็นว่าสวย และที่รู้สึกว่าไม่เห็นสวยแต่ดูแปลกตา ซึ่งหากจะกล่าวไปแล้วราคายังถูกกว่าเจ้า ‘Super Kabuto’ ในสมัยก่อนนั้นเสียอีก ซึ่งรายละเอียดเรื่องสายพันธุ์ต่างๆของ ‘Kabuto’ จากญี่ปุ่นนั้น ผู้เขียนคงจะนำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อๆไป
ก่อนจะจบบทความ ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงวิธีการปลูกเลี้ยงแซนด์สักเล็กน้อย ในบรรดา Astrophytum ทั้งหมด Astrophytum asterias นับว่าเป็นชนิดที่ทนทานต่อแสงแดดได้น้อยมากที่สุด แม้ว่าโดยทั่วไปแล้ว Astrophytum จะเป็นแคคตัสที่ชอบแดดจัด แต่หากได้รับแดดจัดมากเกิน และให้น้ำไม่พอเพียงแล้ว แซนด์จะเป็น Astrophytum ชนิดแรกที่จะสังเกตเห็นอาการเหี่ยวและเสียทรงไป แต่หากไม่ได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอ แซนด์ก็จะเป็น Astrophytum ชนิดแรกอีกเช่นกัน ที่ผู้อ่านจะสังเกตได้ว่า ยอดของเขาหยุดการเจริญเติบโต และบุ๋มลง ดังนั้นผู้เขียนจึงขอแนะนำว่า แสงแดดนั้นควรจะเต็มที่ แต่ไม่ถึงกับเผา ควรพรางแสงให้พอเหมาะ และที่สำคัญคือต้องรดน้ำเสมอเมื่อดินปลูกเริ่มแห้ง ไม่ควรจะปล่อยให้ดินที่ปลูกแห้งเป็นเวลานาน และดินปลูกควรจะต้องโปร่ง ไม่อัดแน่น เนื่องจากดินที่ละเอียดเกินไปจนอัดแน่น นอกจากระบายน้ำได้ไม่ดีแล้ว รากของต้นไม้จะไม่สามารถชอนไชดูดซึมน้ำได้อย่างเต็มที่ ไม่เจริญเติบโตจนเน่าไปในที่สุด
สำหรับการแก้ไขเมื่อพบว่าแซนด์ยุบนั้น ก็แนะนำว่าเอาเข้าที่แดดอ่อนสักหน่อย รดน้ำตามปกติ แต่อย่าให้แฉะ และเพิ่มปุ๋ยเกล็ดละลายน้ำ เช่นโพคอน เล็กน้อย เมื่อสังเกตว่าอาการยุบดีขึ้นจนเป็นปกติจึงเอาออกมาไว้ที่เดิม
ส่วนเรื่องปุยบริเวณตุ่มหนามที่มักจะมีเพื่อนนักเล่นแคคตัสบ่น ว่ามักจะมีปัญหาปุยดำ ปุยชื้น ไม่ฟูขาวสวย เหมือนเมื่อครั้งซื้อมาใหม่ๆ นั้น ผู้เขียนจะขออนุญาตติดเอาไว้อีกสักเรื่องหนึ่ง ที่จะมาแนะนำในโอกาสหน้า
สำหรับบทความ เล่าเรื่อง Sand Dollar Cactus วันนี้ ผู้เขียนก็หวังว่าคงจะให้ประโยชน์และความเพลิดเพลินในการอ่านเรื่องราวรำลึกความหลังของผู้เขียนไปได้บ้าง ขอขอบคุณผู้อ่านที่ติดตามอ่านมาตลอดจนถึงบรรทัดนี้ .. สวัสดี ..
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมเคยเขียนทิ้งๆเอาไว้เวลามีอารมณ์อยากจะเขียน และนึกสนุกลองใช้ภาษาเหมือนผู้ใหญ่รุ่นก่อนๆ ทีแรกว่าจะเปลี่ยนภาษาให้ดูทันสมัยหน่อย แต่อ่านไปอ่านมาก็ดูแปลกดี เลยเอามาฝากให้อ่านดูกันทั้งยังงี้เลย
วิน แอสโตร
win_sikarin@yahoo.com
ประมวลภาพ Sand Dollar ติดตามชมได้เร็วๆ นี้ นะคะ