แนะนำไม้ตลาดยอดฮิตที่น่ารู้จัก
พักหลังๆนี้ ลูกค้าหลายๆท่านที่ร้านให้คำแนะนำที่น่าสนใจว่า อยากให้มีโปสเตอร์หรือใบปลิวแนะนำพันธุ์ไม้ที่ขายอยู่ เพราะบางทีเวลาถามชื้อไปก็จำไม่ค่อยได้ครบ จำผิดจำถูก เจ้าที่ซื้อไปขายต่อก็ตอบลูกค้าที่มาถามไม่ค่อยจะได้ว่า ต้นนี้ชื่ออะไรดอกสีอะไร เป็นไอเดียที่น่าสนใจมาก ก็เลยคิดเห็นว่าน่าจะลองเริ่มเขียนแนะนำไม้ตลาดราคาเล็กที่น่าสนใจดู เพื่อที่ว่าน่าจะพอเป็นข้อมูลเล็กๆน้อยๆให้ทั้งลูกค้าปลีกและลูกค้าส่งที่สนใจได้
ต้นแรกที่ต้องแนะนำ ต้นไม้ยอดฮิตอันดับหนึ่ง นั่นก็คือ “ถังทอง-ถังเงิน”
เจ้าถังทอง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Echinocactus grusonii ส่วนถังเงิน ชื่อว่า Echinocactus grusonii v.albispinus (หมายความว่าเป็นถังทองแบบที่มีหนามเป็นสีขาว) เจ้าสองตัวนี้จัดได้ว่าเป็นต้นไม้มาตรฐานที่นักเล่นแคคตัสทุกคนต้องมีไว้ ลักษณะต้นเป็นไม้หัวกลม โตขึ้นมีขนาดใหญ่มาก โตไม่ช้ามากนัก ดอกสีเหลือง (แต่ออกดอกค่อนข้างยากใน กทม.) เลี้ยงง่ายมาก แดดปกติ (หมายถึงแดดครึ่งวันเช้า หรือประมาณ 4-6 ชม.) รดน้ำสองสามวันครั้ง สิ่งที่ต้องระวังคือเรื่อง การโดนแสงแดดโดยตรงมากเกินไปจะทำให้สีผิวซีดไม่สวยและอาจไหม้ได้ กับอีกเรื่องคือเรื่องหนามที่ยาวสวยแต่มักจะทำให้คนจับเจ็บตัวอยู่เป็นประจำ
ต่อไปเป็นไม้หนามยาวอีกตัว คือเจ้า Mammillaria nivosa
หรือบางคนเรียก “เข็มทอง” ลักษณะเด่นคือหนามยาวสีทองทั่วต้น ต้นมีเนินหนามเป็นตุ่มๆสีเขียวเข้ม ขนาดต้นเล็กๆก็สามารถออกดอกสีขาวอมเหลืองอ่อน และติดฝักสีแดงสดได้ เมล็ดเล็กๆจากฝักก็สามารถเอาไปเพาะได้ลูกเล็กๆอีกมากมาย เลี้ยงง่ายเหมือนแคคตัสทั่วไป ทนมากและตายยาก เรื่องที่ต้องระวังก็คือระวังเจ็บมือเวลาหยิบจับเหมือนกับถังทอง
ด้วยความที่เป็น วิน แอสโตร จะไม่แนะนำเจ้านี่ได้ยังไง Astrophytum myriostigma หรือ “หมวก Bishop” แอรโตรเลี้ยงง่ายราคาเบา มีสี่สายพันธุ์ย่อยที่ราคาไม่แพงนักคือ Astrophytum myriostigma เฉยๆ ต้นมีห้าพูประจุด, Astrophytum myriostigma v.nudum ต้นมีห้าพูแต่สีเขียว ไม่มีประจุด, Astrophytum myriostigma v.quadricostatum ต้นมีประจุดแต่มีสี่พู และ Astrophytum myriostigma v.quadricostatum nudum สี่พูไม่มีประจุด เจ้าพวกนี้เลี้ยงไม่ยากมากนัก แดดครึ่งวัน (แต่ต้องระวังไม่ให้โดนแดดโดยตรงมากเกินไป ผิวเค้าจะไหม้ได้) โตเร็วกว่าแอสโตรตัวอื่นๆ ดอกสีเหลืองทั้งดอกขนาดตั้งแต่สองเซนต์ขึ้นไป เมื่อโตพอควรแล้วออกดอกทีจะชอบออกครั้งหละหลายดอก
ต่อไปเป็นแมมขวัญใจสาวๆ ได้แก่พวก “แมมขนนก” ทั้งสอง ได้แก่ Mammillaria plumosa “แมมขนนก” และ Mammillaria schiedeana “แมมขนนกเหลือง” สองตัวนี้จะมีแต่ขนเป็นปุยเหมือนขนนกสีขาวสีเหลือง ออกดอกเล็กๆสีขาวอมเหลืองอ่อน ดอกออกได้สม่ำเสมอ การเลี้ยงต้องระวังไม่ให้ต้นชื้นมากเกินไป โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน เพราะขนนกอาจจะเก็บความชื้นไว้มากเกินไปจนเน่าได้ง่าย ต้องระวังเรื่องการรดน้ำไม่ให้มากเกินไป
Gymnocalycium mihanovichii มักจะเรียกว่า “ยิมโน” เฉยๆ เจ้านี่จะเป็นต้นแนะนำเมื่อลูกค้าต้องการ “ดอกใหญ่หน่อย และออกดอกง่าย ออกได้บ่อย และดอกบานหลายวันหน่อย” ต้นมีลักษณะแตกต่างกันได้มากเนื่องจากมักจะเป็นลูกผสม ดอกสีขาวถึงชมพูอ่อน บานอยู่ได้หลายวัน เลี้ยงง่าย เลี้ยงแดดไม่จัดมากนักได้ดี รดน้ำชุ่มสองสามวันครั้งตามปกติ
กลับมาเอาใจคนชอบไม้หนามบ้าง Ferocactus herrerae “เฟอโรหนามเบ็ด” ไม้เก่าแก่ตัวหนึ่งของบ้านเรา นักเล่นเก่าแก่ทุกท่านจะมีเจ้าตัวนี้ที่มีอายุยี่สิบสามสิบปี ขนาดเท่าตุ่มย่อมๆ หนามสวยแข็งสีแดงปนน้ำตาล ปลายเป็นขอเหมือนเบ็ด ออกดอกเมื่อได้ขนาดพอสมควร (ประมาณห้าหกปี) ดอกสีเหลืองส้ม เลี้ยงง่ายมากๆ สามารถค่อยๆปรับให้เลี้ยงกลางแจ้งได้ เลี้ยงจนใหญ่แล้วจะดูเท่มากทีเดียว
แนะนำแต่ไม้หัวกลม มาแนะนำไม้กลุ่มเสมาบ้างดีกว่า Opuntia microdasys แคคตัสทรงต้นแบนเป็นแผ่น หนามสั้นๆเป็นกระจุกๆตามลำต้นเหมือนลายตุ๊กแก มีชื่อเรียกไทยๆตามสีของกระจุกหนาม “เสมาเงิน” มีกระจุกหนามเป็นสีขาว, “เสมาทอง” มีกระจุกหนามเป็นสีเหลือง และ “เสมานาก” มีกระจุกหนามสีแดง” ชอบแดดจัดพอควร ถ้าแดดน้อยไปยอดจะยืดได้ง่าย ไม่สวย รดน้ำได้บ่อยหากได้แดดจัด ดอกนี่ ตั้งแต่เลี้ยงแคคตัสมายังไม่เคยเห็นใครเลี้ยงเจ้าตัวนี้แล้วออกดอกได้ในเมืองไทย (ใครเลี้ยงจนออกดอกอย่าลืมตามผมไปถ่ายรูปเก็บไว้ด้วย) แต่ตามหนังสืออ้างอิง เจ้านี่น่าจะมีดอกสีเหลืองถึงส้ม ใครที่อยากเห็นดอกคงต้องเปิดดูรูปในหนังสือดู ต้นนี้มีปัญหาที่คนซื้อคนขายต้องคอยระวังก็คือเรื่องหนาม เพราะคนที่ไม่รู้มักจะเห็นว่าหนามเป็นปุ่มน่ารักดี เอามือไปลูบ ทีนี้ล่ะ หนามเล็กๆที่ตามองไม่ค่อยเห็นจะติดมาที่ผิวหนัง เอาออกก็ยาก ถ้าเอาออกไม่หมดก็จะเจ็บๆคันๆไปหลายวัน การใช้สบู่ลื่นๆล้างก็จะช่วยให้หนามนั้นหลุดง่ายขึ้นได้บ้าง
Mammillaria nejapensis ตัวนี้มีความพิเศษตรงที่หากเลี้ยงจนโตไปได้ระดับหนึ่ง ยอดมี่เดิมมียอดเดียวจะแบ่งตัวออกจากกันเป็นสองยอด (เหมือนกับแยกร่างยังไงยังงั้น แต่กินเวลาแยกนานหน่อย ไม่เหมือนนินจา) ต้นเดียวแต่มีสองยอดดูด้านบนคล้ายลูกตาโตๆสองตา จึงมีชื่อไทยว่า “ตานกฮูก” ออกดอกได้ตั้งแต่เล็กเหมือนแมมทั่วไป ดอกเล็กๆสีขาวมีเส้นสีแดงที่กลางกลีบ สวยน่ารักดี เลี้ยงเหมือนแมมปกติ ได้ยินมาว่าที่เคยเห็นว่าแบ่งตัวได้มากที่สุด แบ่งออกมาได้ถึงสามสิบสองยอด (ตาสิบหกคู่!!)
“นิ้วทอง” ตัวนี้ส่วนใหญ่คงรู้จักกัน ชื่อจริงว่า Mammillaria elongata เป็นแมมทรงยาวที่มีกลุ่มหนามสวยเด่น เดิมมีแต่สีเหลืองทองจึงได้ชื่อว่า “นิ้วทอง” เดี๋ยวนี้มีหลายสีหลายแบบมากขึ้นทั้งสีแดง สีน้ำตาลแดง และแบบที่มีหนามกลางด้วย ดอกเล็กๆสีขาว แต่เห็นได้ไม่บ่อยนัก จัดเป็นแมมที่ใช้วัดฝีมือมือใหม่ได้ดี เพราะทุกคนที่เพิ่งเริ่มเลี้ยงมักจะบ่นว่า “เลี้ยงแล้วทำไมเดี๋ยวก็เน่าอีกแล้ว ชำกิ่งก็ยาก รากไม่ค่อยออก” แต่ถ้าใครเลี้ยงนิ้วทองได้งาม และสามารถชำกิ่งได้ออกราก ก็น่าจะแปลว่ามีฝีมือพอตัวทีเดียว เพราะเน่าได้บ่อย เลยแนะนำให้เลี้ยงไม่ให้ชื้นมาก แดดต้องพอเพียงและอย่ารดน้ำมากเกินไป
ขอแนะนำ “เมโล” ซักสองตัว ตัวแรก Melocactus broadwayi รูปทรงกลมแป้น ต้นสีเขียวเข้ม หนามสีทองปลายแดง เป็นเมโลที่ดูสวยเด่นตัวหนึ่ง เลี้ยงจนใหญ่แล้วสวยมาก และอีกตัว Melocactus disciformis ต้นนี้เล็กๆหน้าตาก็งั้นๆ ดูไม่ได้เด่นเท่าไหร่ แต่มีทีเด็ดตรงที่ เป็นเมโลที่ออกหัวจุก (Cephalium) ได้ที่ขนาดเล็กมากที่สุด ขนาดสองสามนิ้วก็มีหัวจุกแล้ว จึงมักจะขายได้เยอะเมื่อลูกค้าได้เห็นต้นใหญ่ที่ออกจุกแล้ว ดอกเล็กๆสีชมพูเข้ม ออกบริเวณหัวจุก และมีฝักสีขาว มีเมล็ดเล็กๆเอามาเพาะขึ้นได้ง่ายมาก การเลี้ยงเมโลต้องระวังเรื่องแดด เพราะเมโลไม่ชอบให้แดดจัด แดดอ่อนๆครึ่งวันเช้าน่าจะเพียงพอ รดน้ำตามปกติเมื่อดินแห้ง แต่อย่าทิ้งไว้ให้แห้งนานนัก (ถ้าแดดแรงหรือน้ำไม่พอ ต้นจะฟีบๆไม่สวย และทำให้กลับมาเต่งเหมือนเดิมได้ยาก)
จะเห็นว่าไม้ตลาดที่แนะนำให้รู้จัก ส่วนใหญ่จะเป็น Mammillaria “แมม” เพราะเป็นแคคตัสที่เลี้ยงง่าย ออกดอกให้ผลเร็ว ขยายพันธุ์ได้มาก และโตไว จึงมีราคาไม่แพง เป็นแคคตัสสกุลหนึ่งที่ผู้ชื่นชอบสามารถสะสมได้โดยไม่ลำบากกระเป๋าสตางค์มากนัก เป็นไม้ที่แนะนำให้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของ “มือใหม่หัดขับ” ทุกๆท่าน ก่อนที่จะค้นหาความชอบของตนเองและเลื่อนขั้นไปสู่ไม้ที่ราคาสูงขึ้นต่อไป
วิน แอสโตร
แนะนำ ติชม : win_sikarin@yahoo.com