ตามล่า .. ส่องหา KIKKO
อ่านชื่อเรื่องวันนี้ ก็คงพอจะทราบแล้วว่าวันนี้ผมจะมาเล่าเรื่องของ Astrophytum ต้นหนึ่งที่ มีเพื่อนๆนักเล่นแคคตัสหลายๆท่านชอบเป็นพิเศษและเก็บสะสมไว้เป็นจำนวนมาก นั่นก็คือ Astrophytum myriostigma cv. ‘Kitsu-Kow’ หรือชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า ‘Kikkoranpogyoku’ หรือที่คนไทยนิยมเรียกกันว่า ‘กิ๊กโกะ’
Astrophytum myriostigma cv. ‘Kitsu-Kow’ ( คำว่า ‘Kitsu-Kow’ เป็นภาษาญี่ปุ่น หมายถึงกระดองเต่า ) เป็น Astrophytum เชื้อสายญี่ปุ่นที่มีความหลากหลายของลักษณะเด่นมากตัวหนึ่ง แต่ละต้น แต่ละต้นจะมีลักษณะสวยงามมากน้อยแตกต่างกันไป หายากที่จะมีกิ๊กโกะคู่ไหนที่ดูเหมือนกันทุกประการ สายพันธุ์กิ๊กโกะนั้น โดยส่วนตัวผมเอง สันนิษฐานว่าน่าจะพัฒนามาจาก Astrophytum myriostigma cv. ‘costa’ คือ myriostigma ที่มีลักษณะพูเป็นรอยหยักเหมือนร่องคลื่น เกิดจากการคัดเลือกพันธุ์ myriostigma ที่มีลักษณะแบบนี้มาผสมพันธุ์กันไปเรื่อยๆหลายๆรุ่น ( บางคนเข้าใจว่า myriostigma ที่มีพูเป็นรอยหยักนี้ คือ Astrophytum myriostigma var. strongylogonum แต่หลังจากสอบถามจากอาป้อมแล้วก็ได้ความว่า Astrophytum myriostigma var. strongylogonum คือ Astrophytum myriostigma ที่มีลักษณะ “อ้วน-เตี้ย” พูจะอวบๆและต้นจะดูแบนๆหน่อย ในไทยเรามักจะผสมปนเปกันไปหมดจึงหา strong แท้ๆมาให้ชมยาก ) จนในที่สุดก็เกิดมาเป็น myriostigma ที่มีบั้งเป็นร่องลึกระหว่างแต่ละตุ่มหนามในแต่ละพู มองจากด้านบนดูคล้ายกระดองเต่า จึงได้ซื่อภาษาญี่ปุ่นว่า ‘Kitsu-Kow’ หรือ ‘Kikko’
กิ๊กโกะ มีทั้งตัวธรรมดา ( มีประจุดสีขาว ) และตัว nudum ( สีเขียว ) แต่โดยส่วนใหญ่ที่นิยมกันมักจะเป็นตัว nudum มากกว่า ( คิดว่าเนื่องจาก การที่ไม่มีประจุด จะทำให้สีเขียวเข้มของลำต้นช่วยส่งลักษณะบั้งลึงของกิ๊กโกะให้ชัดเจนขึ้น ดูสวยงามมากกว่า ) และมีทั้งห้าพู และสี่พู ( ห้าพูจะหาได้ง่ายกว่า แต่หลายๆท่านจะชอบสี่พูมากกว่า .. ผมก็คนหนึ่งล่ะ ) ลักษณะอื่นๆทั่วไปก็เหมือนกับ Astrophytum myriostigma เกือบทุกอย่าง การปลูกเลี้ยงก็ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ ยกเว้นอยู่อย่างว่า ถ้าเลี้ยงแล้วเกิดตายไป คงเสียดายมากกว่ากัน .. นิดนึง
เนื่องจากโดยส่วนใหญ่แล้ว ลักษณะเด่นของกิ๊กโกะ คือ ร่องลึกบั้งระหว่างตุ่มหนามในแต่ละพู จะแสดงออกมาเมื่อมีอายุมากพอสมควรแล้ว ขนาดมักจะต้องใหญ่กว่ากำปั้นขึ้นไป ( ระยะหลังๆมานี้ มีการผสมสายพันธุ์กิ๊กโกะได้สายพันธุ์ที่นิ่งมากขึ้น ทำให้สามารถแสดงลักษณะเด่นออกมาได้ตั้งแต่ยังเล็ก และอีกวิธีที่ช่วยให้กิ๊กโกะแสดงตัวออกมาได้ก่อนเวลา ก็คือการต่อยอด ) ราคาของกิ๊กโกะที่แสดงลักษณะออกมาได้ชัดเจนและได้ทรงสวยงาม ราคาจึงมักจะสูงจนแทบซื้อไม่ไหว ไม้เล็กๆก็ทำนายได้ลำบากว่าต้นไหนจะโตขึ้นมาเป็นกิ๊กโกะ ส่วนใหญ่คนที่อยากได้กิ๊กโกะไว้เป็นแม่พันธุ์จึงมักจะต้องตัดใจซื้อต้นใหญ่มาเลย เพราะไม่สามารถเก็บต้นเล็กๆได้เหมือนไม้ตัวอื่นๆ
แต่จริงๆแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะเดาไม่ออกเลยเสียทีเดียวว่าต้นไหนโตขึ้นมาจะเป็นกิ๊กโกะ สำหรับคนเบี้ยน้อยหอยน้อย ( อย่างผม ) หากลองเลือกหาตามเคล็ดลับที่จะเล่าให้ฟังต่อไป ก็อาจจะได้ไม้อนาคตไปลุ้นในราคาไม้ตลาดธรรมดาๆเลยก็ได้ เดี๋ยวออกมาสวยกว่าต้นใหญ่ซื้อแพงๆ แล้วจะหาว่าไม่เตือน
วิธีเลือก myriostigma ราคา 10-20 บาท ที่มีโอกาสน่าจะกลายเป็นกิ๊กโกะ
( ใครนำเคล็ดลับนี้ไปเลือกแล้วได้กิ๊กโกะสวยๆ ผมขออนุญาตเก็บค่าน้ำร้อนน้ำชา สัก 10 % ละกันนะ .. อิอิ )
1. ต้องแน่ใจก่อน ว่าร้านที่กำลังจะเลือก มีแม่พันธุ์ที่เป็นกิ๊กโกะ
2. ลักษณะของ costa ที่แสดงออกมาแต่เล็ก ยิ่งหยักยิ่งมีโอกาสจะเป็นกิ๊กโกะมากกว่า
3. ต้นที่ยอดมีลักษณะบุ๋มลงไปลึกกว่าปกติ
4. ระหว่างตุ่มหนามแต่ละพู ถ้าสันมีลักษณะเรียบตรงจะมีโอกาสเป็นกิ๊กโกะมากกว่าสันโค้งๆ
5. บั้งเล็กๆบริเวณตุ่มหนาม บางทีจะเห็นเหมือนตุ่มหนามชูๆขึ้น
6. ถ้าแรกๆยังไม่แน่ใจ ถามคนมีน้ำใจที่อยู่แถวๆนั้นว่าน่าจะใช่หรือเปล่า
หวังว่าเพื่อนๆคงจะสนุกมากขึ้นกับการส่องหากิ๊กโกะจากกองไม้ตลาดทั่วๆไป (ลูกค้าขาจรคงจะงงว่า คนนี้นั่งส่องอะไรอยู่ ต้นไม้ก็เหมือนๆกันตั้งหลายต้น ) แต่ระวังว่าจะเก็บไม้อนาคตไว้มากจนเต็มบ้านละกัน ต่อไปผมคงต้องไปสวนจตุจักรเช้าๆซะแล้ว ไม่งั้นไปสาย เดี๋ยวจะไม่เหลืออะไรให้ส่องหากับเค้า
Story & Illustration by
วิน แอสโตร
แนะนำ ติ ชม ที่ win_sikarin@yahoo.com
กิ๊กโกะต้นในรูปนี้เป็นต้นไม้ของอาป้อมที่ผมชอบมากที่สุดต้นหนึ่งเลย
ไม่รู้จะส่องยังไงให้ได้โตขึ้นมาสวยขนาดนี้นะเนี่ย
ประมวลภาพ KIKKO
ภาพโดย กระท่อมลุงจรณ์
โปรดติตตามแนะนำพันธุ์ไม้ ตอนต่อไปได้ เร็วๆ นี้