คู่มือคนเลี้ยง Astrophytum
หลังจากลงเรื่อง KIKKO นี่ก็ตั้ง 6 เดือนมาแล้วที่ไม่ได้มีเรื่องราวดีๆเขียนมาฝากเพื่อนๆเลย เคยรับปากไว้ว่าจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับวิธีขจัดปัญหาต่างๆในการเลี้ยง Astrophytum คราวนี้เนื่องในโอกาสฉลองจบการศึกษา (อันยาวนาน) ของผม ก็เลยมีเรื่องวิธีการเลี้ยง Astrophytum แบบครบวงจรมาฝากเป็นของขวัญวันตรุษจีน จะเรื่องมากยากง่ายยังไง ก็ลองอ่านดูละกัน
Astrophytum ที่ว่า “สวย” เป็นยังไงกัน
สำหรับมือใหม่หลายๆคน ปัญหาเรื่องแรกๆ คือดูต้นไม้ยังไม่ค่อยเก่ง เวลาเลือกต้นไม้ก็มักจะงงๆว่า เอ๊ะ ต้นนี้กับต้นนั้นมันสวยต่างกันยังไงนะ เราก็ว่ามันเหมือนๆกัน ทำยังไงเราถึงจะเลือกเป็นนะ
Astrophytum มีลักษณะเด่นที่บอกถึงความ “สวย” อยู่หลายอย่าง
- ประจุดสีขาว อันนี้แน่นอน เพราะเป็นลักษณะเด่นของ Astrophytum อยู่แล้ว ประจุดควรจะมีความขาวแบบนุ่มนวล สีขาวโอโม่จนถึงสีครีมวานิลลา ไม่มีคราบดำหรือน้ำตาลเกาะ และควรจะขาวสม่ำเสมอทั่วๆต้น ดูไม่หมอง หากเป็นพวก ‘SUPER KABUTO’ ซึ่งมีประจุดเป็นเกล็ดใหญ่หรือเป็นแผ่น ควรจะเห็นว่ามันเหมือนกับฟูออกมาจากความเรียบของผิวต้น และที่ลำคัญ ต้องไม่มีตะไคร่ขึ้นนะ
- ปุยที่ตุ่มหนาม (areoles) ปัญหาหลักที่ได้ยินเพื่อนๆบ่นเป็นประจำ คือ “ปุยดำ” areoles ที่ดีจะต้องพองฟูเต็มที่ ไม่เกาะกันเป็นก้อน จะต้องเห็นว่าเหมือนกับมีขนเล็กๆฟูจนคล้ายๆจะหลุดออกมาได้ ดูไม่แข็งกระด้างจนเกินไป สีขาวโอ่โม่ถึงสีครีมวานิลลาอ่อนๆ ไม่เลอะเทอะมอมแมม ไม่มีฝุ่นเกาะ ไม่มีจุดดำๆ (สปอร์ของเชื้อรา) ติดอยู่
- ผิวของลำต้น สำคัญมากหากเป็นกลุ่ม v.nudum ต้องเขียวสดสม่ำเสมอ ไม่มีคราบด่างแดด หากเป็นต้นสีเขียวเข้มจะต้องเขียวจนเกือบเป็นมัน หากเป็นต้นสีตองหรือไม้ด่างเนื้อ ต้องเขียวนุ่มนวลดูผิวเป็นกำมะหยี่ ต้องไม่มีคราบน้ำหรือคราบปุ๋ยยาฆ่าแมลงเกาะ คราบเชื้อราสีน้ำตาลที่โคนต้นก็เป็นเรื่องที่บ่นกันบ่อย ไม่ควรจะปล่อยให้ลามเกินผิวดินออกมามากนัก และที่สำคัญต้องไม่ลามขึ้นไปเป็นจุดสีน้ำตาลแดงใหญ่ๆข้างบน
- รูปทรง Astrophytum ส่วนใหญ่รูปทรงควรจะกลมแป้นเหมือนส้มหรือแอปเปิ้ล ไม่ควรจะเลี้ยงจนยาวเป็นขนุนหรือมะละกอ ยกเว้นบางต้นซึ่งเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะ ต้องไม่มีรอยย่นตรงสัน ซึ่งบอกว่าเคยมีช่วงที่ต้นไม้ต้นนี้ขาดน้ำ (ไม่ใช่ KIKKO นะ) ที่บริเวณยอดจะดูยุบลงพอประมาณ แต่ไม่ถึงกับบุ๋มเป็นหลุมลงไปเลย
- ลาย ‘variegata’ ไม้ด่างที่สวย คือด่างกระจายทั่วต้น ลายคล้ายๆหินอ่อน ส่วนด่างกับส่วนเขียวแยกกันไม่ชัดเจนเกินไป ส่วนที่ด่างไม่โตมากเกินหรือเหี่ยวแห้งกว่าส่วนเขียวปกติ
- หน่อ Astrophytumที่ดีไม่ควรจะมีหน่อเยอะ เพราะต้นแม่จะเสียทรง ยกเว้นว่าอยากจะทำเป็นแม่พันธุ์ไม้หน่อ
แค่นี้ก็คงจะพอเห็นแล้วว่า เจ้า “วิน แอสโตร” นี่เรื่องมากจู้จี้ขนาดไหน ทั้งนี้หลายๆคนอาจคิดเห็นไม่เหมือนกับผมซะทีเดียว ก็เข้าทำนอง “ลางเนื้อชอบลางยา” แหละนะ แต่ก็คงจะพอเข้าใจแล้วว่าเวลาเจอเพื่อนที่เลี้ยงแคคตัสมาก่อนเขาเลือกต้นไม้อยู่ จะเห็นว่าเขานั่งส่องอยู่หลายต่อหลายรอบนี่ เขาดูอะไรกัน
Basic needs เพื่อ Astrophytum ที่แข็งแรงและสวยงาม
เคล็ดหลักวิชา คือ “สมดุลของธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ” นี่พูดจริงๆนะ ไม่ได้ล้อเล่น
- ดิน ก็หมายถึงดินแหละ Astrophytum เป็นแคคตัสระบบรากตื้น แต่มีรากที่ใหญ่และค่อนข้างแข็งแรง ดินควรจะโปร่งและหยาบพอสมควร ดินที่ละเอียดเกินไปจะจับกันแน่น ทำให้รากไม่สามารถชอนไชไปได้และเน่าง่ายเนื่องจากระบายน้ำไม่ดี ดินที่หยาบจะช่วยให้รากแข็งแรงและชอนไชไปได้ทั่วกระถาง ไม่เน่าง่าย ส่วนประกอบหลักๆของดินปลูก Astrophytumควรจะเป็นหินภูเขาไฟเม็ดเล็กๆกับดินใบไม้ผุ (ไม่ใช่ใบไม้ผุเฉยๆที่ไม่มีดินเลยนะ) ควรจะมีเม็ดดินอยู่บ้างเพื่อไม่ให้ดินแล้งจนเกินไป หินภูเขาไฟจะช่วยให้ดินไม่เกาะกันแน่น สิ่งสำคัญของดินปลูก Astrophytum คือต้องระบายน้ำลงด้านล่างได้รวดเร็ว ไม่ควรให้น้ำระเหยขึ้นหน้าดินมากเกินไปในตอนเช้า เพราะจะนำพาปัญหาเชื้อราและตะไคร่มา การรองก้นกระถางด้วยหินภูเขาไฟก้อนใหญ่หรือถ่านทุบจะช่วยได้มาก การโรยหน้าดินด้วยกรวด มีประโยชน์ช่วยกันดินกระเด็นมาเปรอะต้นเวลารดน้ำ (ซึ่งจะน้ำเชื้อโรคจากดินขึ้นมา) ป้องกันการระเหยของน้ำในดินขึ้นมาเกาะลำต้น และช่วยให้ต้นไม้ดูเด่นมากขึ้นด้วย เลือกวัสดุที่เรียบเกือบเป็นมันและไม่มีฝุ่น ไม่ควรใช้หินภูเขาไฟมาโรยหน้าเพราะตะไคร่จะขึ้นง่าย
- น้ำ น้ำที่ใช้รด ควรเป็นน้ำสะอาด ไม่มีฝุ่นไม่มีตะกอน น้ำประปาที่ทิ้งไว้ให้คลอรีนลดลงก็ใช้ได้ดี การรดน้ำแบบอาบน้ำฝักบัว จะให้น้ำแบบนุ่มนวลช่วยล้างฝุ่นบนต้นไม้และไม่ทำให้ดินกระเด็น ปุยจะได้รับการล้างและทำให้ฟูมากขึ้นจากการตกกระทบของน้ำ (ต่างจากการรดน้ำแบบขันตักอาบ) การใช้ foggy ฉีดพ่น อาจทำให้ได้น้ำไม่เพียงพอและไม่สามารถล้างฝุ่นออกไปได้ รดน้ำให้ชุ่มในดินที่ระบายน้ำได้ดี แล้วจึงปล่อยให้ต้นไม้และดินแห้งจึงรดครั้งต่อไป ปุ๋ยที่ใช้รด ควรจะเป็นปุ๋ยที่ละลายน้ำได้ดี และไม่ก่อให้เกิดคราบขาว ผสมน้ำแล้วควรจะใสแจ๋วไม่ขุ่น รดเวลาเย็นที่ไม่มีแดดแล้วเพื่อป้องกันการไหม้ของต้น และถ้าให้ดี การรดน้ำเพื่อล้างปุ๋ยที่ติดค้างบนต้นออกลงดินในเช้าวันรุ่งขึ้น จะช่วยลดคราบบนต้นไปได้มาก ยาฆ่าแมลงและเชื้อรา ควรเป็นแบบละลายน้ำ Astrophytum เป็นแคคตัสที่ค่อนข้างแข็งแรงและมีภูมิคุ้มกันเชื้อโรคและแมลงดีพอควร การผสมยาให้ไม่เข้มข้นเกินไปจะลดคราบที่จะเกาะบนต้นได้ ยาพวกนี้ส่วนใหญ่ผสมแล้วน้ำจะขุ่นจึงควรใช้แต่น้อย และพ่นเพียงบางๆให้ทั่วต้นเท่านั้นพอ ที่ไม่ควรใช้เลยคือ พวก white oil และสารจับใบ เพราะรดไปแล้ว พอโดนแดดจะแห้งแข็งและแตกเป็นแผ่นบนต้น เสียเวลาแก้ไขนานมากจึงจะหาย ส่วนใหญ่รดเวลาเย็นถึงค่ำ สามารถรดพร้อมกันกับการให้ปุ๋ยได้ ถ้าโรคหรือแมลงไม่ได้หนักหนามาก ทิ้งให้ยาอยู่ 1 คืนแล้วล้างออกวันรุ่งขึ้นก็จะทำให้คราบน้อยลง พยายามรดยาให้น้อยครั้งที่สุด เฉพาะเมื่อเวลาจำเป็นจริงๆ เพื่อความปลอดภัยของทั้งคนและต้นไม้ ส่วนปุ๋ยให้ได้บ่อยเท่าที่ต้องการ (อันนี้แล้วแต่สูตรของแต่ละคน)
- ลม หมายถึง การถ่ายเทของอากาศ สภาพอากาศและความชื้นในอากาศจะมีผลต่อการแห้งของต้นไม้และผิวของต้น อากาศที่แห้งจะทำให้ต้นไม้แห้งเร็ว แต่ก็ทำให้ผิวต้นไม้ดูหยาบกร้าน ส่วนอากาศที่ชื้น แม้ว่าต้นไม้จะดูชุ่มชื่น สดใส แต่ก็จะมีปัญหาเรื่องตะไคร่และเชื้อรา โรงเรือนเปิดอากาศถ่ายเทดี ลมพัดตลอดเวลาจะมีอากาศที่แห้ง อาจจะต้องรดน้ำให้บ่อยมากขึ้น ส่วนโรงเรือนปิดแบบตู้อบ อากาศจะชื้น ต้นไม้จะดูผิวสวย แต่ปุยหรือประจุดจะไม่ขาวฟูเท่าที่ควร แก้ไขโดยทำหลังคาให้สูงหน่อย เพื่อที่อากาศร้อนชื้นจะได้สามารถระเหยขึ้นสู่ด้านบนได้ และควรเปิดประตูหรือพลาสติกเพื่อระบายความชื้นออกเป็นครั้งคราว
- ไฟ หมายถึง แสงแดด แม้ว่า Astrophytum จะเป็นแคคตัสที่สามารถทนแสงแดด 100% ได้ และชอบแสงแดดมากพอสมควร แต่แสงแดดที่มากจนเกินไปจะทำให้ผิวต้นไม้เปลี่ยนสีและดูเหี่ยวแห้ง การรดน้ำมากขึ้นจะช่วยเพียงไม่ให้ต้นไม้ยุบลง แต่ไม่ค่อยจะช่วยเรื่องผิวพรรณเท่าไหร่ จึงควรจะมีการพรางแสงไว้บ้าง โดยเฉพาะถ้าต้นไม้ได้รับแดดช่วงเที่ยงและบ่ายเป็นส่วนใหญ่ ตรงกันข้าม แสงแดดที่น้อยเกินไป จะทำให้ Astrophytum ไม่ค่อยเจริญเติบโต แคคตัสชนิดอื่นอาจจะยืดยาวออก แต่เนื่องจาก Astrophytum โตค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับแคคตัสชนิดอื่นและมีทรงที่ค่อนข้างออกไปทางกลมแป้น ก็เลยไม่รู้จะยืดได้ยังไง เลยไม่โตเอาเสียเลย และหากไปรดน้ำบ่อยๆจนดินชื้นแฉะก็จะพาลเน่าเอา การเลี้ยง Astrophytum ที่ดีจึงควรให้ได้รับแสงเต็มที่โดยมีการพรางแสงให้แสงแดดไม่จัดจนเกินไป อีกอย่างคือแสงแดดจะช่วยให้ต้นไม้แห้งไว จึงควรจะรดน้ำก่อนที่แดดจะออกสักครู่ เพื่อที่ต้นไม้จะได้ดูดน้ำแล้วแสงแดดจะได้ระเหยเอาน้ำส่วนเกินที่ค้างอยู่บนผิวต้นออกไป ต้นไม้ไม่ควรจะชื้นอยู่นานมากเกิน 1-2 ชั่วโมง ส่วนการรดปุ๋ยในเวลาเย็นนั้น ถ้าจะให้ดี ควรจะมั่นใจว่าอากาศสามารถถ่ายเทได้ดีพอที่จะทำให้ต้นไม้แห้งได้ จึงไม่ควรรดบ่อยในช่วงที่อากาศอบอ้าวและฝนตกชุก
หลักการที่ว่ามานั้นจะเป็นเพียงหลักคร่าวๆ การเลี้ยงต้นไม้ไม่มีสูตรเฉพาะตายตัว ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามสภาพอากาศ ฤดูกาล แสะสถานที่ปลูก สำคัญที่เราสามารถจะรักษาสมดุลของปัจจัยต่างๆนี้ได้เป็นระยะเวลานานแค่ไหน และหากสมดุลของ “พลัง” ถูกทำลายไป ทำอย่างไรจึงจะนำสมดุลกลับมาได้ แต่ผมว่านี่แหละที่เป็นเสน่ห์และความสนุกของการเลี้ยงแคคตัสทุกๆสายพันธุ์
ต่อไป นอกจากหลักการคร่าวๆที่อ่านกันจบไปแล้ว จะมาเล่าถึงองค์ประกอบสำคัญอื่นๆในการเลี้ยง Astrophytum กันบ้าง
สถานที่ปลูกเลี้ยงและเรือนโรง
Ideal ที่สุดเลย คือเป็นโรงเรือนกันฝุ่น มีหลังคาพลาสติกใสและกันฝนสาด รับแสงแดดครึ่งวันเช้าถึงบ่ายอ่อนๆ ตั้งอยู่ในที่โล่ง ระบายอากาศได้ดี ไม่มีต้นไม้ใหญ่อยู่ใกล้ๆซึ่งจะเป็นแหล่งแมลงและเชื้อรา แต่แน่นอน ปัจจัยด้านพื้นที่และงบประมาณย่อมมีจำกัด ระเบียงบ้านด้านทิศตะวันออก ถือว่าดีในแง่การรับแดดที่ไม่จัดจนเกินไป หากมีการป้องกันฝนสาดที่ดี และพรางแสงไม่ให้ต้นไม้ได้รับแสงโดยตรง น่าจะเป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุดสำหรับคนที่ไม่มีพื้นที่บ้าน คนที่สนใจอยากจะทำโรงเรือนขนาดเล็ก โรงเรือนแบบของพี่จิ๊บเป็นตัวอย่างทีดีมาก เลือกวัสดุที่แข็งแรงและทนมือทนเท้า หลังคาแนะนำว่าเป็นกระเบื้องพลาสติกใสจะดีว่าใช้แผ่นพลาสติกบางๆขึง เพราะแข็งแรงและกันฝนได้แน่นอน อีกเรื่องคือปัญหาเรื่องหนู เป็นที่บ่นกันบ่อยมาก ต้องป้องกันให้ดีด้วย ไม่งั้นต้นไม้สวยๆของเราจะเป็นอาหารหนูไปหมด
กระถาง
คำถามประจำ คือ กระถางดินเผาใช้ปลูก Astrophytum ดีมั้ย อันนี้แล้วแต่คนชอบ เพราะบางคนเห็นว่ากระถางดินเผามันดูสวยกว่าพลาสติกดำๆ กระถางดินเผาจะระบายน้ำไว ดินจะแห้งเร็วมาก ก็ต้องรดน้ำบ่อยหน่อย ถ้าจะใช้ควรเลือกที่เป็นกระถางดินเผาเนื้อดีอย่างบาง กระถางหนาๆเนื้อหยาบๆ หรือโอ่งมังกรคงจะไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่ ส่วนกระถางพลาสติกถือว่าเป็นภาชนะมาตรฐานในการเลี้ยงแคคตัสอยู่แล้ว สำคัญที่ควรเลือกกระถางที่รูก้นกระถางเยอะพอควรและอยู่สูงขึ้นมาจากพื้น ขนาดไม่ใหญ่เกินกว่าต้นไม้มากเกินไป ปกติผมให้ไม่เกินครึ่งถึงหนึ่งเซนติเมตร สีดำจะดูดความร้อนมาก ดินจะร้อนตาม ถ้าเลี่ยงไปใช้สีอื่นน่าจะดีกว่า (ร้านพี่ต้อมเคยมีขายสีฟ้าน้ำทะเล ผมนึกสนุกซื้อมาลองใช้พักนึงแต่หยุดไปเพราะสีมันแสบลูกกะตาเหลือเกิน เลยกลับมาใช้สีส้มแดงตามเดิม)
ปุ๋ย
ปกติก็ใช้พวกปุ๋ยเกล็ด (โพคอน จะเป็นที่แนะนำกันมากที่สุด) ส่วนปุ๋ยเม็ด พวกออสโมโค้ต ผมเองไม่ค่อยได้ใช้ เพราะรู้สึกว่าไม่อยากให้ดินเสียเร็ว แต่พี่ๆหลายคนใช้กันก็ว่าได้ผลดี อันนี้แล้วแต่ศรัทธาและความเชื่อ บางคนจะแนะนำให้ใช้ฮอร์โมน เช่น B-1 ผสมน้ำรดสลับกับโพคอน หรือรดไปด้วยกัน คิดว่าได้ประโยชน์ในแง่บำรุงรากไปด้วย ผมลองมาพักหนึ่งก็เห็นว่าระบบรากเดินดีใช้ได้ ความบ่อยในการให้ปุ๋ย ขึ้นกับสภาพอากาศ ช่วงที่แดดดีๆ ต้นไม้จะโตเร็วกินเก่งก็อาจจะให้ได้ทุกสัปดาห์ (แต่ไม่ควรจะเข้มข้นเกินไปนัก) ช่วงที่ฝนตกชุกหรือไม่ค่อยมีแดด ก็ควรลดลงบ้าง โดยทั่วไปแล้วสองสัปดาห์ต่อครั้งน่าจะกำลังดี
แมลงศัตรูพืชและเชื้อรา
โดยทั่วไปแล้ว Astrophytum จะพบปัญหาเรื่องแมลงน้อยมาก ที่พบบ้างก็จะเป็นเพลี้ยหอยและเพลี้ยแป้ง ถ้าไม่มากนักก็ใช้วิธีเขี่ยออกทุกครั้งที่เจอจนกว่าจะหมดไป แต่ถ้าเขี่ยเท่าไหร่ก็ไม่หมด ก็อาจจะเลือกใช้ยาฆ่าแมลงที่ไม่แรงจนเกินไปนัก เจ้าเพลี้ยสองอย่างนี้ให้เลือกใช้ยาฆ่าแมลงประเภทดูดซึม (เช่น มาลาไทออน หรือพอส) ถ้ารีบล้างออกในวันรุ่งขึ้นก็จะดีต่อผิวต้นไม้ และสุขภาพเจ้าของต้นไม้ด้วย
เชื้อราเป็นปัญหาที่พบบ่อยกว่า ส่วนใหญ่จะพบเป็นขี้กลากสีน้ำตาลที่โคนต้น บางครั้งก็จะอัดแน่นจนนูนออกมาเป็นตุ่มๆ ถ้าลามขึ้นมาด้านบนมากก็จะทำให้ต้นหมดสวยไป และตุ่มเชื้อราพวกนี้มักจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ต้นไม้เราเน่าไปได้หากไม่ได้ควบคุมให้ดี ยากันราที่ใช้กันบ่อยคือ ออโธ่ไซด์ ถือว่าได้ผลดีในระดับหนึ่งและไม่เป็นอันตรายมากเกินไป แต่ถ้าปัญหาเยอะมากก็ลองหายาตัวที่แรงกว่ามาลองใช้ดู แต่อย่าใช้บ่อยจนเกินไปนัก
ปัญหาการเลี้ยงที่เจอบ่อยๆ
- ปุยดำ จะทำยังไงดี
หลีกเลี่ยงฝุ่น ปรับเรื่องการรดน้ำ พยายามให้ต้นไม้แห้งเร็ว ดูว่าแสงแดดพอหรือยัง และต้นไม้ของเราโตสม่ำเสมอดีหรือเปล่า รดยากันราอ่อนๆ รดโพคอนสัปดาห์ละครั้ง ปุยที่ดำไปแล้วจะดีขึ้นได้บ้างไม่มากนัก แต่สำคัญที่ปุยที่ขึ้นมาใหม่จะต้องไม่ดำไปด้วย
- แผลเชื้อราที่โคนจะแก้ได้ไหม
แก้ไม่ได้แล้ว แต่ควรป้องกันไม่ให้ลามขึ้นมามากกว่านี้โดยการรดยากันเชื้อรา หมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลง และหากมีอาการเริ่มเน่า ให้รีบคว้านส่วนนั้นออกแล้วผึ่งแดดให้แผลแห้งแล้วจึงปลูกใหม่
- คราบน้ำเกาะที่ผิวต้น
ใช้น้ำที่สะอาดรด และต้นไม้ต้องแห้งเร็ว รดน้ำแบบอาบฝักบัวเพื่อล้างฝุ่นที่เกาะอยู่ออก พยายามไม่ใช้ยาฆ่าแมลงและยากันราบ่อยนัก ส่วนใหญ่แล้วคราบจะหายไปได้หมด
- ทำไมมันถึงออกเป็นทรงสูงแทนที่จะอ้วนออก
ถ้าไม่ใช่เพราะว่าเป็นสายพันธุ์ที่จะออกสูง เช่น HUBOKI หรือ ONZUKA ส่วนใหญ่ มักจะเป็นเพราะกระถางคับแคบไปแล้ว การเปลี่ยนกระถางจะช่วยไม่ให้ยาวไปมากกว่านี้ แต่มักจะไม่สามารถทำให้กลับมาแป้นได้เหมือนเดิม ควรจะเปลี่ยนกระถางเมื่อต้นโตจนเกือบคับกระถางแล้ว หรือรากแทงออกตามรูก้นกระถาง แต่ก็ไม่ควรใช้กระถางกว้างเกินไปนัก เพราะอาจจะทำให้ต้นไม้โตช้าและเน่าง่าย
- รากเน่าบ่อย
ส่วนใหญ่จะเป็นเพราะดินอัดแน่นมากเกินไป รากไม่สามารถชอนไชไปได้ และถูกกดจนรากเน่าไปเรื่อยๆจนกุดถึงโคนต้น ถ้าต้นยังไม่เน่า ให้ล้างดินเก่าออก ชุบฮอร์โมนเร่งราก เช่น B-1 หรือ Exotic รอแห้งแล้วปลูกลงในดินใหม่ที่โปร่งระบายน้ำได้ดี รดน้ำหลังจากปลูกใหม่ 1 สัปดาห์
ไม่แน่ใจว่าที่เรียบเรียงมาทั้งหมดนี้จะครบถ้วนสมบูรณ์และตอบคำถามของเพื่อนๆได้หมดหรือยัง เนื่องจากเขียนๆหยุดๆอยู่หลายวัน อะไรที่นึกได้ตอนแรกก็คงมีลืมๆไปบ้าง ใครที่มีปัญหาอะไรเพิ่มเติม จะถามในเวบบอร์ดหรือส่ง e-mail มาถามก็ได้ เรื่องถัดไปคิดว่าจะเขียนเรื่องการขยายพันธุ์และการเลือกผสมพันธุ์ Astrophytum หวังว่าคงจะเป็นเรื่องที่ใครๆหลายคนสนใจอยู่ ก็รออ่านกันต่อไป
By วิน แอสโตร
แนะนำ ติชม win_sikarin@yahoo.com