ตอนที่ 2 Copiapoa cinerea
คลิ๊กดูอัลบั้มภาพ Copiapoa cinarea ได้ที่นี่
“For the cactus collector this must be one of the most desired plants from South America: the contrast of the black spines against the white body is irresistible”
เวลาที่คนนึกถึงโคเปียโป ภาพแรกที่ออกมาจะเป็นกระบองเพชรที่สภาพเถื่อน ๆ แล้ง ๆ ผิวเป็นกระขาว หนามดำทะมึน นั่นคือภาพของสปีชี่ที่คนนึกถึงมากที่สุด ถ้าพูดถึงตระกูลโคเปียโป นั่นก็คือ Copiapoa Cinerea
Copiapoa Cinerea ตอนเล็ก ๆ จะมีรูปร่างกลมแป้น แต่พอโตขึ้นจะออกทรงเป็นลำสูงยาว แล้วก็จะแตกหน่อเป็นกอ จะมีจำนวนพู ตั้งแต่ 12 พูไปจนถึง 37 พู ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ subspecies และวาสนาของแต่ละต้น นอกจากนี้หนามของมันยังสุดจะหลากหลาย ไม่ว่าจะหนามดำ หนามขาว หนามเหลือง หนามส้ม (ถ้ารวม Copiapoa Haseltoaniana / Gigantea ว่าเป็นส่วนหนึ่งของ Copiapoa Cinerea) หนามน้ำตาล หนามสั้น หนามยาว หนาวเดียว ไปจนถึง 10 กว่าหนาม ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของ Copiapoa Cinerea คือมันจะมีปุยสีขาว หรือเหลืองอ่อน ๆ ที่ยอด ซึ่งถ้าเป็น Copiapoa Haseltoaniana แล้วจะเป็นปุยสีส้มหรือเหลือง Copiapoa Cinerea มีดอกสีเหลือง เหมือน ๆ กับ Copiapoa อื่น ๆ มีถิ่นกำเนิดแถบ Chanaral, Antofagasta (ไม่รู้เหมือนกันว่ามันอยู่ตรงไหน) มักจะขึ้นอยู่ตามแนวชายฝั่ง ในภาคเหนือของชิลี
Copiapoa Cinerea เป็น 1 ใน Copiapoa ที่มีการสร้างผนังสีขาวขึ้นปกคลุมร่างกาย จนทำให้ดูเหมือนต้นเป็นสีขาวกันไปเลย บางตำราเรียกผนังสีขาวนี้ว่า wax บางตำราเรียกว่า powder บางตำราเรียกว่า farina ถ้าเคยเลี้ยง Copiapoa Cinerea จะรู้ว่าไอ้ farina สีขาวนี่มันไม่ได้มีให้เห็นกันง่าย ๆ ถ้าเป็นไม้เพาะเม็ดเอง หรือ seedling เล็ก ๆ มักจะสีเขียวเป็นหลัก แต่ถ้าเป็นไม้ป่า ขุดมาเนี่ย จะขาวเห็น ๆ มีคนบอกว่าเป็นเพราะสภาพอากาศที่แห้งแล้งบ้าง แสงแดดบ้าง ละอองหมอกบ้าง ลมที่แรงจัดบ้าง ที่ทำให้เกิด farina สีขาวขึ้น อันนี้ก็ต้องไปหาข้อสรุปกันเอาเอง เพราะว่าก็ไม่รู้เหมือนกัน ยังไม่มีใครกล้าฟันธง เคยได้ไม้จากญี่ปุ่นมาผิวก็ขาวพอสมควร แต่ห่างไกลจากไม้ป่ามาก
สำหรับเครือของ Copiapoa Cinerea ก็มีดังนี้
ถ้าตัดพวกตระกูลใกล้เคียงออก Copiapoa Cinerea จะมี 3 subspecies ด้วยกันคือ
- Copiapoa Cinerea SSP Albispina
- Copiapoa Cinerea SSP Cinerea
- Copiapoa Cinerea SSP Columna-Alba
ถ้าเอาพวกใกล้เคียงด้วย ก็จะมี
- Copiapoa Haseltoaniana / Gigantea
- Copiapoa Dealbata
- Copiapoa Krainziana
- Copiapoa Longistaminea
เรามาไล่กันทีละตัวไปเลย เริ่มจาก SSP Albispina
C. Cinerea SSP Albispina เป็นฟอร์มที่เกิดอยู่ในแถบเหนือสุด ของตระกูล Cinerea ลักษณะของมันก็คือจะมีหนามสีขาว แทนที่จะสีดำ แล้วก็จะเล็กและเปราะกว่าของ SSP Cinerea พรมแดนของ SSP Albispina จะติดอยู่กับ Copiapoa Haseltoaniana ซึ่งจะสามารถพบ hybrid ของพวกมันได้บ่อย ๆ
C. Cinerea SSP Cinerea จะเป็นฟอร์มที่มีหนามดำ แต่บางพวกของมันก็มีหนามเป็นสีน้ำตาลถึงสีแทน (เขาว่ากันว่าแถว ๆ ใต้ Taltal ซึ่งเป็นสถานที่อะไรสักอย่างที่ชิลี หนามจะสีไม่ดำ) สามารถที่จะมีหน่อเพียบถึง 35 หน่อ แต่โดยมากจะมีแค่ 1-5 หน่อแค่นั้น จำนวนพูหรือกลีบของมัน จะน้อยกว่า SSP Columna-alba ที่มีถิ่นกำเนิดใต้ลงไปกว่าของ SSP Cinerea มาก มันมีสถานที่หนึ่ง อยู่ทางตะวันออกของ Taltal เรียกกันว่า “Cinerea Valley” เป็นที่ ๆ อยากจะไปขุด เอ้ยเหยียบสักครั้ง เพราะว่าเป็นที่ ๆ มีประชากรของ Copiapoa Cinerea อยู่แบบเพียว ๆ อย่างหนาแน่น เขาประมาณกันว่ามี Copiapoa Cinerea รุ่นผู้ใหญ่ อยู่ถึง 250,000 – 400,000 ต้น (ถ้ามีคนให้ทุน ผมจะไปนับมาให้ว่าจริง ๆ มีกี่ต้น) SSP Cinerea นี้พบ hybrid กับ C.Krainziana, Haseltoaniana, SSP Columna-alba และ C.Rupestris
C. Cinerea SSP Columna-Alba เป็น Copiapoa Cinerea ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในส่วนใต้สุดของพวก Cinerea ด้วยกัน ลักษณะของต้นผู้ใหญ่จะคล้าย SSP Cinerea มาก ทว่าจะมีจำนวนกลีบมากกว่า และมีหนามสั้นกว่า แต่บางตำราให้ความเห็นว่า SSP Columna-Alba นี้ควรจะแยกเป็นคนละสปีชี่ มากกว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของ Copiapoa Cinerea เพราะว่าพวก seedling เล็ก ๆ จะมีลักษณะแตกต่างจาก SSP Cinerea อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งผมเองก็ค่อนข้างจะเห็นด้วย
เรื่อง Copiapoa cinerea ผมคงจะจบไว้แค่นี้ก่อนนะครับ แล้วคอยติดตาม เรื่องต่อไปของย้อนรอยโคเปียโป ได้ใหม่ในครั้งหน้านะครับ ขอบคุณครับ.
BY ฯพณฯ ท่าน...............
คลิ๊กดู อัลบั้มภาพโคเปียโปได้ ที่นี่