เรื่องต้นไม้ตามใจฉัน ตอน ......Classic Capricornes
เมื่อนานมาแล้ว ได้เขียนเรื่อง “Capricorne ราชันย์ที่ถูกลืม” เล่าเรื่องราวทั่วๆไป และแนะนำการเลี้ยงดู Astrophytum capricorne แบบคร่าวๆ ทั้งยังแนะนำ Astrophytum capricorne var. crassispinum CV. ‘Kihougyoku’ ซึ่งทางประเทศญี่ปุ่นได้ทำการปรับปรุงสายพันธุ์จนได้ลักษณะหนามที่สวยงามเป็นพิเศษไปแบบเล็กๆน้อยๆ ครั้งนี้อยากจะขอแนะนำให้รู้จักกับ Astrophytum capricorne สายพันธุ์ดั้งเดิมจากทางทวีปอเมริกากันบ้าง ซึ่งมีความสวยงามไม่แพ้ต้นไม้จากทางญี่ปุ่นเลย ซึ่งผมขอเรียกรวมๆ เหมือนกับที่ตั้งชื่อเรื่องว่า “Classic Capricornes”
Capricorneดูยังไงว่า พันธุ์แท้ หรือพันธุ์ผสม
Astrophytum capricorne พันธุ์แท้ หมายถึง ไม่ได้เกิดจากการผสมระหว่าง Astrophytum species อื่น เช่น A. asterias หรือ A. ornatum จะสังเกตได้จากลักษณะของลำต้น และลักษณะของหนาม A. capricorne แท้ๆ จะมีพูตั้งแต่ 8 พูขึ้นไป (ถ้ามี 7 พู มักจะเป็นพันธุ์ผสมกับ A. asterias) ลักษณะของพูจะดูแหลมเป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่วมุมแหลม มากกว่าจะเป็นรูปคล้ายสามเหลี่ยมด้านเท่า ร่องระหว่างพูจะลึก และพูทั้งแปดมักจะเรียงตัวกันโดยบิดๆวนเล็กน้อย ลักษณะของหนามจะแบนเป็นเส้นและมีความยาวพอสมควร (หากหนามสั้นและกลม มักจะเป็นพันธุ์ผสมกับ A. ornatum)
(รูปที่ 1) Astrophytum hybrid ‘capricorne X ornatum’
ต้นนี้ร่องพูไม่ลึก และหนามค่อนข้างสั้น
ความจริงแล้ว การเป็นสายพันธุ์แท้ หรือสายพันธุ์ผสม ไม่ได้มีผลกับความสวยงามของต้น หรือความนิยมในตลาดแต่อย่างใด แต่แนะนำให้ใช้เป็นข้อสังเกตเวลาเลือกทำการเลือกผสมเกสรเท่านั้นครับ เพราะแน่นอนว่าสายพันธุ์แท้ ก็ย่อมจะให้ลักษณะเด่นที่นิ่ง (หมายถึงลักษณะคงที่เหมือนกับพ่อ-แม่พันธุ์) มากกว่า
Astrophytum capricorne:ต้นตำรับ แท้และดั้งเดิม
(ผมขออนุญาตละชื่อย่อที่ลงท้าย ซึ่งเป็นชื่อย่อของผู้ที่ค้นพบและเป็นคนตั้งชื่อไว้นะครับ เนื่องจากคิดว่าไม่ได้มีผลกับการจำแนกชนิดต่างๆของ A.capricorne ในบทความนี้เท่าไหร่นัก หากสนใจก็สามารถเปิดอ้างอิงได้จากหนังสือครับ)
เป็น A. capricorne ที่เรียบง่าย ดูแข็งแรงและมีเสน่ห์ ลักษณะโดยทั่วไป เป็นไม้หัวกลม ลำต้นเป็นสีเขียวเข้ม มีแปดพู มีจุดประสีขาวมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ลักษณะที่ได้มาจากพ่อ-แม่ หนามขนาดปานกลาง (ไม่หนา และใหญ่เท่ากับหนามของ A. capricorne var. crassispinum) ยาวโค้งเข้าหาใจกลางลำต้น สีน้ำตาลถึงน้ำตาลดำ มักจะมีมากกว่า 8-10 หนาม ต่อหนึ่งตุ่มหนาม (areole) ดอกขนาดใหญ่สีเหลือง ใจกลางดอกสีแดง เมื่ออายุมากขึ้นจะเริ่มกลายเป็นทรงสูง หนามจะดูเล็กลงเมื่อเทียบกับขนาดต้นที่ใหญ่ขึ้น เป็น Astrophytum ที่สง่างามและอดทนมากต้นหนึ่ง
(รูปที่ 2) Astrophytum capricorne
สายพันธุ์แท้ ซึ่งมีลักษณะลำต้นและหนามต่างๆ กัน
(รูปที่ 3) Astrophytum capricorne
(รูปที่ 4) Astrophytum capricorne
เมื่อมีอายุมากขึ้น จะเริ่มสูงขึ้นมากกว่าขยายออก
Astrophytum capricorne var. niveum :แคปริคอร์นสีขาวที่สวยที่สุด
ในหนังสือ Cacti ; The Illustrated Dictionary ซึ่งเขียนโดย Rod and Ken Preston-Mafham ซึ่งพวกเราคงจะรู้จักกันดี กล่าวแนะนำ Astrophytum capricorne สายพันธุ์นี้ว่าเป็น Astrophytum ที่สวยที่สุด ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ ผมเองก็ยังไม่เคยเห็น A. capricorne ต้นไหน ดูโดดเด่นและสวยเท่ากับต้นที่เป็นภาพประกอบในหนังสือเล่มนี้เลย คำว่า niveum หมายถึง ลักษณะของลำต้นที่มีประจุดสีขาวกระจายแน่นเต็มทั้งลำต้น ตัดกับหนามยาวโค้งสีเทาถึงสีดำ ดอกลักษณะเหมือนกับ A. capricorne โดยทั่วไป คือดอกสีเหลือง กลางดอกสีแดง ทุกวันนี้ ไม่ง่ายเลยที่จะหา A. capricorne var. niveum ที่ได้ลักษณะในท้องตลาด
(รูปที่ 5) Astrophytum capricorne var. niveum
(รูปที่ 6) Astrophytum capricorne var. niveum
ที่มีหนามอีกลักษณะหนึ่ง
(รูปที่ 7) Astrophytum capricorne var. niveum
(ภาพจากหนังสือ Cacti ; The Illustrated Dictionary
)
Astrophytum capricorne var. crassispinum :จุดเริ่มต้นของKihougyoku
ในเมืองไทย ถ้าจะกล่าวถึง ผู้ที่สะสม Astrophytum ตัวนี้เก็บไว้มาก และมี collection ที่สวยที่สุด คงต้องแนะนำให้รู้จักกับ คุณลุงวิชิต ทันด่วน แห่งบางแสน คุณลุงวิชิตนี่เองที่เป็นผู้แนะนำให้ผมรู้จักกับ A. capricorne สายพันธุ์นี้ ซึ่งคุณลุงได้สั่งเมล็ดเข้ามาเพาะจากต่างประเทศ และได้ผสมคัดเลือกลักษณะ จนเป็นผู้ที่มี collection A. capricorne ที่สวยงามหลากหลายที่สุดท่านหนึ่ง A. capricorne var. crassispinum มีจุดเด่นที่หนามที่ยาวและมีขนาดใหญ่ มีสีตั้งแต่สีขาวครีม สีเหลืองทอง จนถึงสีดำ แต่ดั้งเดิมแล้วหนามจะมีสีอ่อนมากกว่า ลำต้นมีสีเขียวอมฟ้าและจะมีประจุดสีขาวขนาดใหญ่กระจายอยู่ทั่วไป แต่ไม่มากเท่า A. capricorne var. niveum ดอกจะมีลักษณะพิเศษ แตกต่างกับ A. capricorne คือจะเป็นสีเหลืองล้วน ไม่มีไส้แดง และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ เป็น A. capricorne ที่สวยงามไม่แพ้ A. capricorne var. niveum เลย และตัวนี้เองที่ทางญี่ปุ่น นำไปปรับปรุง คัดเลือกสายพันธุ์ จนได้เป็น A. capricorne var. crassispinum CV. ‘Kihougyoku’ ซึ่งผมจะได้หาข้อมูลมาเล่าให้กันฟังในตอนต่อไป
(รูปที่ 8) Astrophytum capricorne var. crassispinum
Astrophytum capricorne var. crassispinoides :แคปริคอร์นหนามละเอียด
Astrophytum capricorne ไม่ได้มีแต่ชนิดที่หนามใหญ่ดูน่าเกรงขามเสมอไป ยังมี A. capricorne ชนิดที่มีหนามเป็นเหมือนกับเส้นผมหยักไปมาเหมือนกัน นั่นก็คือ A. capricorne var. crassispinoides ซึ่งลักษณะต้นก็ไม่ได้แตกต่างจาก A. capricorne ทั่วไป แต่หนามของเค้าจะมีความบางจนเหมือนกับเป็นเส้นผมหยักศก มีสีขาวครีมบ้าง สีเหลืองทองบ้าง หรือบางต้นก็มีหนามเป็นสีน้ำตาลแดง ลักษณะดอกของ A. capricorne var. crassispinoides จะคล้ายกับ A. capricorne var. crassispinum คือสีเหลือง ไม่มีไส้สีแดง และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ผมสังเกตว่า Astrophytum ชนิดนี้ จะถูกผสมข้ามสายพันธุ์กับ Astrophytum species อื่นๆ ได้ง่ายกว่า A. capricorne ทั่วๆไป จึงค่อนข้างยากพอสมควรที่จะได้พบ A. capricorne var. crassispinoides ดั้งเดิมแท้ๆ
(รูปที่ 9) Astrophytum capricorne var. crassispinoides
ต้นนี้มีหนามสีเหลืองทอง
นอกจากนี้ ในกลุ่ม Astrophytum capricorne ยังมีอีก species หนึ่ง ที่มักจะถูกจำแนกออกจาก A. capricorne จากลักษณะของต้นและหนามที่แตกต่างกัน นั่นก็คือ Astrophytum capricorne var. senile หรือ Astrophytum senile
Astrophytum senile :คุณปู่ของตระกูลแคปริคอร์น
คำว่า senile หมายถึง ผู้สูงอายุ หรือ คนแก่ ซึ่งได้มาจากลักษณะของหนามที่มีสีอ่อน และดูเหมือนเส้นผมของคนเราเวลาอายุมากขึ้น ลักษณะของลำต้นจะคล้ายกับ A. capricorne แต่มักจะไม่มีประจุด ลักษณะดอกไม่ค่อยแตกต่างจาก A. capricorne นัก แต่เนื่องจากลักษณะที่คล้ายกับ A. capricorne นี้เอง จึงไม่ได้มีการคัดเลือก A. senile แท้ๆไว้มากเท่าไหร่นัก มักจะผสมรวมกับกลุ่มของ A. capricorne ไปเลย จึงไม่สามารถหาภาพตัวอย่างมาให้ชมกันได้
Astrophytum senile var. aureum :คุณปู่วัยสะรุ่นผมทอง
Aureum แปลว่า สีทอง ซึ่งตั้งชื่อ Astrophytum ชนิดนี้ ตามสีของหนามที่เป็นสีเหลืองทอง ลักษณะของลำต้นมักจะไม่มีประจุด สีทองของหนาม จะตัดกับสีเขียวเข้มของลำต้น ดูคล้ายกับ A. capricorne var. crassispinum ‘Aureispinum’ จากทางญี่ปุ่น แต่หนามจะมีขนาดเล็กและบางกว่าแบบ A. senile ยังพอพบได้ใน collection อยู่บ้าง
(รูปที่ 10) Astrophytum senile var. aureum
ต้นนี้ยังอายุไม่มาก จึงยังดูไม่เหมือนคุณปู่เท่าไหร่
Capricorneไม่มี var. nudumนะครับ
แม้ว่าจะมี Astrophytum capricorne ที่ไม่มีประจุดที่ลำต้น เช่น A. capricorne var. crassispinum บางสายพันธุ์ และ A. senile แต่จากหนังสืออ้างอิงทั้งหมด ไม่มีเล่มไหนเลย ที่กล่าวถึง A. capricorne var. nudum ซึ่งในเรื่องนี้ ตัวผมเองคิดว่า ลักษณะที่จะไม่มีประจุดใน A. capricorne สายพันธุ์แท้นั้น ยังเป็นลักษณะที่ไม่นิ่ง เพราะเมื่อเพาะเมล็ดจาก A. capricorne สายพันธุ์แท้แล้ว ลูกที่ได้ก็ยังมีลักษณะของประจุดที่แตกต่างกัน ตั้งแต่มีประจุดกระจายทั่วต้น จนถึงแทบจะไม่มีประจุดเลย นอกจากนี้ช่วงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ก็อาจมีการเพิ่มและลดของประจุดบนลำต้นได้ ไม่เหมือนกับ A. asterias var. nudum หรือ A. myriostigma var. nudum ซึ่งไม่ค่อยพบการเพิ่มหรือลดของประจุดบนลำต้นระหว่างการเติบโตนัก ส่วน Astrophytum capricorne สายพันธุ์ย่อยๆ อาจจะไม่มีประจุดเป็นลักษณะเฉพาะตัวอยู่แล้ว ดังที่ได้กล่าวมาครับ
Capricorne ..ราชันย์ที่ถูกลืม
อย่างที่ได้เคยพูดไว้ว่า Astrophytum capricorne เป็นแคคตัสที่มีความสวยงาม และหลากหลายมากชนิดหนึ่ง แต่เนื่องจากกระแสความนิยมไม่แรงเท่า Astrophytum asterias หรือแคคตัสสกุลอื่นๆ เช่น Ariocarpus ทำให้ A. capricorne มักจะถูกมองข้ามไป และไม่ได้แพร่หลายในหมู่นักเล่นแคคตัสเท่าที่ควร ผมแอบหวังเล็กๆว่าบทความนี้ จะพอช่วยกระตุ้นให้เพื่อนๆหลายๆคน ลองหันมาสนใจเก็บสะสม Astrophytum ที่มีหนามชนิดนี้กันบ้างนะครับ
ขอฝาก Capricorneไว้ในอ้อมใจของท่านผู้อ่านทุกคนนะครับ
วิน แอสโตร (ที่อาจจะถูกลืม)
แสดงความคิดเห็นด้านล่าง