เรื่องต้นไม้ตามใจฉัน ตอน.......เมื่อต้นไม้ถูกทอดทิ้ง .....
“ยามหนุ่ม คนมักใช้สุขภาพแลกเงิน .. ยามแก่ คนมักใช้เงินแลกสุขภาพ”
เปิดเรื่องมาอย่างนี้ หลายๆคนอาจจะคิดว่า สงสัยหมอวิน แอสโตร จะทอดทิ้งต้นไม้ เปลี่ยนแนวมาเขียนเรื่องสุขภาพแทนแล้ว เปล่าหรอกครับ .. ยังเป็นเรื่องแคคตัสเหมือนเดิม ประโยคข้างต้นเค้าต้องการจะสื่อให้เราเห็นสัจธรรมข้อหนึ่งว่า “ไม่ว่าเงินเท่าไหร่ก็แลกให้สุขภาพกลับมาดีเหมือนเดิมไม่ได้” เพื่อต้องการที่จะแนะนำให้ทุกคนดูแลสุขภาพตนเองก่อนที่จะสายเกินไป ซึ่งผมว่าไม่เฉพาะกับคนเราเท่านั้น ยังสามารถใช้กับแคคตัสได้ด้วยเช่นกันครับ
ตัวอย่างแคคตัสที่ถูกทอดทิ้ง
ด้วยความที่ผมจำเป็นที่จะต้องออกไปทำงานที่ต่างจังหวัด และมีเวลากลับมากรุงเทพฯไม่บ่อยนัก ต้นไม้จำนวนหนึ่ง (มากพอสมควร) จึงถูกทิ้งไว้ที่บ้านที่กรุงเทพฯ โดยฝากให้คนทางบ้านช่วยดูแลรดน้ำให้เป็นบางครั้ง นานๆจึงจะสนใจมาดูแลจัดเรียง ถอนต้นหญ้าวัชพืชต่างๆสักครั้งหนึ่ง เวลาผ่านไป โรค เชื้อรา และเพลี้ยแมลง ศัตรูตัวสำคัญก็เริ่มบุกเข้ามา ต้นไม้ที่เคยตั้งใจเลือกไว้ ก็เริ่มโทรม เหี่ยวลง มีแผลเป็น กลากเกลื้อนขึ้นจนหมดสวย ไม่เหมือนกับตอนแรกที่ซื้อมา ความสนใจจะมาดูแลก็เริ่มลดลงเรื่อยๆ จนสุดท้าย พอได้กลับมาบ้านช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ก็กลายเป็น .. เดินห้างดีกว่า
แคคตัส .. เลี้ยงไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายนะ
หลายๆคนคงจะทราบดีว่า แม้ว่าแคคตัสจะเป็นไม้ทะเลทรายที่ทนแล้งได้ดี ไม่ต้องการการดูแลเอาใจใส่มากนัก แต่ก็ไม่ง่ายนักที่จะเลี้ยงแคคตัสให้คงความสวยงามเหมือนเดิมอยู่ตลอดไปได้ หากเราเริ่มปล่อยปละละเลย ไม่สนใจ ไม่นานนักต้นไม้เค้าก็จะเริ่มส่งสัญญาณบอกเราว่า “ดูแลหนูน้อยไปแล้วนะคะ” โดยจะเริ่มเหี่ยว ฝุ่นเกาะ ดูสีสันไม่สดใส หนามหดเล็กลงหรือไม่แตกหนามเพิ่ม แคคตัสบางชนิดก็จะเริ่มมีโรคเชื้อรา กลากเกลื้อน ลุกลามขึ้นมาจากบริเวณโคนต้น บางครั้งกลายเป็นสีน้ำตาล หรือมีแผลนูนๆตะปุ่มตะป่ำเกือบทั่วต้นเลยก็มี ซึ่งไม่สามารถแก้ไขให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ จนบางคนต้องตัดใจทิ้งต้นไม้ไปเป็นจำนวนมากด้วยความเสียดาย .. ผมก็คนหนึ่งล่ะ
(รูปที่ 1) ต้นไม้ที่ขาดการดูแล เอาใจใส่ สภาพโทรม มีแผล มีวัชพืชขึ้นรก ดูไม่สวย และไม่น่าดูแล
แผลเชื้อรา กลากเกลื้อน .. สัญญาณอันตรายอย่างหนึ่งของแคคตัส
จะมีเพื่อนๆที่เพิ่งเริ่มเลี้ยงแคคตัสไม่นาน ถามอยู่เสมอว่า แคคตัสพวก Astrophytum, Ferocactus และ Gymnocalycium ทำไมนานๆไปแล้ว ตรงโคนต้นมักจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล บางครั้งลามขึ้นมาจนมากกว่าครึ่งต้น หรือบางต้นก็มีแผลเป็นตุ่มแข็งๆสีน้ำตาลทั่วไปหมด พอได้คำตอบว่าเป็นโรคเชื้อรา และทำได้เพียงการรดยา เพื่อหยุดไม่ให้โรคลุกลามต่อไปจนทำให้ต้นไม้เน่าเสียได้เท่านั้น ไม่สามารถที่จะทำให้แผลที่เกิดขึ้นหายไป หรือสีของลำต้นเปลี่ยนกลับมาเหมือนเดิมได้ ก็มักจะแสดงท่าทางผิดหวังกันไปตามๆกัน
การเปลี่ยนสีของโคนต้นเป็นสีน้ำตาล เป็นธรรมชาติของแคคตัสบางชนิด เช่น Astrophytum ornatum และ capricorne, Ferocactus และ Gymnocalycium ซึ่งจะไม่ได้ลุกลามสูงขึ้นจากดินมากนัก แต่หากโคนต้นเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและลามมากขึ้นมาถึงครึ่งต้น แสดงว่าเกิดจากเชื้อราที่มาจากดินซึ่งใช้มานานเกินไปจนเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ในกรณีนี้ควรจะรีบเปลี่ยนดิน เปลี่ยนกระถาง และรดยาฆ่าเชื้อรา เพื่อป้องกันไม่ให้โรคลุกลามมากขึ้นจนต้นไม้หมดสวย และคงต้องรอให้ต้นไม้โตขึ้นเรื่อยๆจนส่วนที่สีเปลี่ยนไปถูกซ่อนไว้ด้านล่างๆต่อไป ไม่มีทางแก้ไขให้หายไปได้ครับ
(รูปที่ 2) บริเวณโคนต้นของ Astrophytum ornatum
เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเนื่องจากเชื้อรา
(รูปที่ 3) บริเวณโคนต้นของ Ferocactus
ที่เปลี่ยนสี
(รูปที่ 4) บริเวณโคนต้นของ Gymnocalycium
ที่เปลี่ยนสี
ส่วนแผลที่เกิดตามลำต้น มีสีน้ำตาล ลักษณะเป็นตุ่มแข็งๆ นั่นคือ กลุ่มของเชื้อราที่เกาะรวมกลุ่มกันเป็น colony และสร้างสปอร์ขยายเผ่าพันธุ์กันอยู่ภายใน จะเริ่มจากการเป็นจุดสีน้ำตาลเล็กๆ ต่อมาขยายขนาดแผ่และนูนออกเรื่อยๆ บางครั้งก็แตกออกเป็นแผลใหญ่ กระจายเชื้อไปให้ต้นไม้ข้างเคียง และสามารถลุกลามจนไปถึงแกนกลางของท่อลำเลียงส่งผลให้ต้นแคคตัสเน่าเสียได้ในเวลารวดเร็วหากไม่ได้รับการแก้ไข หากพบแต่เนิ่นๆควรรีบรดยาฆ่าเชื้อรา และสังเกตจนกว่าจะแน่ใจว่าแผลไม่ได้ลุกลามเพิ่มเติม หากเป็นแผลแล้ว ถ้าตัดออกได้ควรจะตัดออก ถ้าใหญ่มากจนไม่สามารถตัดออกได้ อาจจะต้องตัดใจทิ้งต้นไม้ต้นนั้น หรือถ้าตัดใจไม่ลง ควรรดยาฆ่าเชื้อราแล้วหมั่นสังเกตดูอย่างสม่ำเสมอ เพราะเชื้อราและสปอร์ภายในแผลยังสามารถลุกลามเข้าไปภายในลำต้นได้อยู่ตลอด เช่นเดียวกัน แผลที่เกิดแล้วไม่สามารถทำให้หายไปได้ครับ
(รูปที่ 5) แผลจากเชื้อรา ในระยะเริ่มแรก เป็นจุดสีน้ำตาลแดง
(รูปที่ 6) แผลจากเชื้อราที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เป็นตุ่มแข็งสีน้ำตาล
(รูปที่ 7) แผลขนาดใหญ่ ที่สามารถแตกออกเป็นแผล หรือลุกลามเข้าภายใน สามารถทำให้ต้นไม้เน่าตายได้ในเวลารวดเร็ว
(รูปที่ 8) แผลจากเชื้อราลุกลามไปทั่วต้น แบบนี้อาจจะต้อง “ตัดใจ”
ตะไคร่ .. ตัวการที่ทำให้ Super Kabuto หมดสวย
คุณ Tony Sato ได้ให้ชื่อกับ Super Kabuto ที่มีสีอมเหลืองทอง ว่า “Golden Super Kabuto” ความจริงแล้ว เราก็สามารถตั้งชื่อ “Emerald Super Kabuto” หรือ “Jade Super Kabuto” ได้เช่นกัน แต่เพราะตะไคร่ขึ้นนะครับ ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่อะไรที่ไหน
ตะไคร่น้ำ เป็นพืชน้ำจำพวกสาหร่าย มักจะเกิดขึ้น เมื่อมีความชื้นและมีแสงแดด ซึ่งก็ไม่แปลกสำหรับประเทศร้อนชื้นแบบบ้านเรา หลายคนอาจจะแปลกใจว่า เราก็ไม่ได้รดน้ำต้นไม้ทุกวัน ดินก็แห้งเร็ว ทำไมยังมีตะไคร่ขึ้นได้ โดยปกติแล้วหากวัสดุปลูก (หมายถึง ดินปลูก วัสดุรองก้นกระถาง และวัสดุที่ใช้โรยปิดหน้าดิน) แห้งสนิทก่อนรดน้ำครั้งต่อไป หรือหากเลี้ยงต้นไม้ให้ออกแล้งสักหน่อย ตะไคร่จะพบได้น้อยมาก แต่เราคงไม่สามารถทราบได้ 100% ว่าวัสดุปลูกแห้งจริงหรือยัง หรือกว่าจะรอให้แห้งจริง ต้นไม้เราก็จะเหี่ยวเสียก่อน ยิ่งถ้าใช้วัสดุโรยหน้าที่มีลักษณะเป็นรูพรุน อย่างเช่น กรวดหินภูเขาไฟ หรือเม็ดดินเผาหรือหินสปาแล้ว จะพบตะไคร่ขึ้นได้ง่ายมาก ซึ่งถ้ายังพบอยู่แค่ที่ในดินก็แล้วไป แก้ไขไม่ยากนัก แค่เปลี่ยนดินเปลี่ยนกรวดโรยหน้าใหม่ ก็จะหายไป
แต่ถ้าเกิดเราไม่ได้คอยสังเกตอยู่สม่ำเสมอ ปล่อยให้ดินชื้น หรือปล่อยให้วัชพืชต่างๆ ขึ้นจนรก กว่าจะพบอีกที เราก็จะเห็น Super Kabuto ต้น(เคย)โปรด เปลี่ยนจากสีขาวแบบ Snow type กลายเป็นสีอมเขียวแบบ Emerald type แย่กว่านั้น คือหากทิ้งไว้นานมาก จากสีเขียวอ่อนๆ ก็จะกลายเป็นสีคล้ำๆ แบบ Slum type ไป ซึ่งก็เหมือนเดิมครับ แก้ไขยากมากกก ที่พอจะช่วยได้ก็คือ รีบเปลี่ยนดินให้แห้งเร็วมากขึ้น เปลี่ยนวัสดุโรยหน้า เปลี่ยนที่ตั้งให้อากาศถ่ายเทได้ดีและไม่ชื้น และลดการรดน้ำลง ซึ่งถ้าโชคดี ก็อาจจะดีขึ้น หรือไม่ลามต่อไป แต่ถ้าโชคไม่ดี ไม่หาย ก็คงต้องทำใจครับ
(รูปที่ 9) Astrophytum asterias CV. “Super Kabuto – Emerald type”
(รูปที่ 10) Astrophytum asterias CV. “Super Kabuto – Slum type”
ทำยังไง .. ถึงจะไม่ต้อง “ทำใจ”
สังเกตว่า ครั้งนี้ผมจะพูดคำว่า “ตัดใจ” และ “ทำใจ” บ่อยมาก หลายคนคงจะทราบดีว่า ปัญหาที่เราคุยกันมาทั้งหมดนี้ มันแก้ไขได้ยากจริงๆ อย่างที่ผู้ใหญ่ชอบสอนครับ “อย่าให้วัวหายจึงล้อมคอก” หรือ “กันไว้ดีกว่าแก้” เพราะผมก็เป็นคนหนึ่งที่ต้อง ”ตัดใจ” และ “ทำใจ” แล้วค่อย “ล้อมคอก” เลยอยากแนะนำให้มาป้องกันกันไว้ก่อนดีกว่า
1. แบ่งเวลามาเอาใจใส่ต้นไม้แสนรักของเราสักหน่อย หมั่นสังเกต และคอยระวังกำจัด เพลี้ยแมลง และวัชพืชอย่างสม่ำเสมอ
2. ต้นไม้ต้นไหนที่มีปัญหา ควรรีบแก้ไขแต่เนิ่นๆ อย่าปล่อยให้ลุกลาม หรือแพร่กระจายไปยังต้นอื่นๆ
3. หากทิ้งต้นไม้ไว้นานแล้ว (เหมือนวิน แอสโตร) ลองแบ่งเวลาว่าง (ที่จะไปเดินห้าง) มาจัดการ เลือก คัด เปลี่ยนดินเปลี่ยนกระถาง รดยารดปุ๋ย เสียหน่อย จะทำให้ต้นไม้น่าดูแล และดูแลง่ายขึ้นกว่าการปล่อยให้รกอีกมากครับ
(รูปที่ 11) หลังจากจัดการคัดเลือก เปลี่ยนดินเปลี่ยนกระถาง ต้นไม้ดูเป็นระเบียบ สวยงามน่าดูแลขึ้นมาก
รักต้นไม้ ต้อง “เอาใจใส่”
ต้นไม้ ไม่ว่าจะต้นอะไร ก็เป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกับเรา เรายอมเสียเงินไม่ใช่น้อย ซื้อตัวเค้ามาอยู่ด้วย เค้าก็ย่อมต้องการการดูแลเอาใจใส่ ไม่แพ้ลูกหลาน หรือสัตว์เลี้ยงตัวโปรด หากเราละเลยไม่สนใจ เค้าอยู่กับเราไม่ไหว ก็ต้องป่วยและตายไป เราก็เหมือนกับเสียเงินไปฟรีๆ แต่ถ้าเราแบ่งเวลาสักนิด เหลียวมองเค้าสักหน่อย ไม้ช้า เค้าก็ย่อมเติบโต แตกหน่อ ผลิดอกออกมาให้เราได้ชื่นใจแน่นอนครับ
ดูแลต้นแคคตัสแสนรักกันดีๆ แล้วก็อย่าลืมดูแลสุขภาพของตัวเองด้วยนะครับ
วิน แอสโตร
P.S เพื่อนๆพี่ๆที่เคยพบกันบ่อยๆ ก็แยกย้ายกันไปทำงาน ทำธุรกิจของตนเอง ต้นไม้ก็คงต้องโทรมลง ไม่ต่างจากผมเท่าไหร่ ก็หวังว่าพอทุกคนมีเวลาจะได้กลับมาพบปะกันเหมือนเมื่อก่อนนะครับ
แสดงความคิดเห็นด้านล่าง